วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พุทธแบบไทยๆ


ฉันไม่ค่อยสะเทือนใจเท่าไรกับข่าวที่ว่าหนึ่งในแกนนำพวกเสื้อแดงโดนยิงกบาลตายแหล่ไม่ตายแหล่ จากการสงครามการเมืองและกลางเมือง บนแยกราชประสงค์(ซึ่งเขี่ยเอาราชดำเนินตกกระป๋องไปเลยทีเดียว) เพราะการฆ่าฟันมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ทางการเมือง ไม่ว่าจะรูปแบบใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ ระบบกษัตริย์ ที่เป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์ไทย แต่สิ่งที่ฉันสะเทือนขวัญก็คือ หลายคนพลอยยินดีปรีดากับการตายของหนึ่งในแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งจำนวนในนั้นเป็นคนที่รู้จักมักคุ้นผ่าน fb และเป็นคนกรุงเทพกระฏุมภี ที่คิดถึงพารากอน ctw เกสร เต็มแก่

เพราะมันเป็นการสนับสนุนความรุนแรงและการฆ่าแกงเพื่อกำจัดคนที่มีความคิดและอุดมการณ์ในเรื่องต่างๆ ที่ต่างออกไป โดยกลุ่มคนชนชั้นที่มักมีสำนึกทางวัฒนธรรมที่เกลียดกลัวความรุนแรงและเทิดทูนความอบอุ่นละมุนละม่อม มีสำนึกทางการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยมากกว่าชนชั้นอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นเจ้าที่พัฒนาสถานภาพมาจากนักรบ เป็นชนชั้นที่มีกองทัพเป็นของตนเอง และนิยมระบอบเทวราชากับสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากกว่า

จะว่าไปแล้ว พบว่าคนที่พลอยยินดีกับการปางตายและภาวนาให้ตายในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นroyalist และพึงพอใจกับการมีประชาธิปไตย “แบบไทยๆ” !!!!

ทำเอาให้หวนให้นึกถึงภาพ “คน”เอาเก้าอี้พับฟาด “คน” ที่ถูกแขวนคอใต้ต้นไม้จนคดบิดคอเบี้ยวที่แวดล้อมไปด้วยกลุ่ม “คนด้วยกัน” ยืนมุงดู เมื่อเดือนตุลา 2519 หรือใกล้อีกนิดก็เหตุการณ์ทำร้ายร่างกายคนที่ไม่ลุกขึ้นยืนเวลามีเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์

แม้ฉันเองก็ไม่ได้ romanticized แบบชนชั้นกลางชนิดที่ว่าเราต้องรักกัน คนไทยต้องรักกัน (คนตั้งเยอะแยะมันจะไปรักกันยังไงหว่า) ต้องโอบออ้อมอารี ไม่ใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาก็ตาม เพราะความรุนแรงมันก็เช่นเดียวกับการเมือง มันมีอยู่ทุกที่ เราหนีไม่พ้นอยู่แล้วแม้แต่ความตาย เราจึงเห็นกระบวนการตัดสินและคาดโทษในโลกหลังความตายที่เต็มไปด้วยการใช้กำลัง ความรุนแรง ตามทรรศนะของศาสนา แม้แต่ศาสนาพุทธที่พร่ำสอนว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลกา ก็ตาม
หลายคนเชื่อว่าเรื่องเมตตาธรรมของสิทธัตถะและยืมมาใช้ในการพยายามหยุดความรุนแรงด้วยการอ้างสถานะของประเทศไทยว่าเป็น “เมืองพุทธ” ราวกับจะบอกว่าประเทศอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธเขานิยมความรุนแรง และ ประเทศที่ผู้นำและควนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธเขาจะไม่ฆ่าแกงกัน

ทว่าการบอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธของพุทธศาสนิกชนไทย ก็ไม่ต่างอะไรไปจากที่กระฎุมภีกรุงเทพมหานครลุ้นให้แกนนำเสื้อแดงตายไปทีละคนสองหรือระเบิดหัวผู้นำม๊อบ เพราะมันเป็นการกำจัดและปิดปากคนที่แตกต่างแปลกปลอม เขี่ย คริสเตียน มุสลิม ยิว คนไหว้ผี และรวมไปถึงคนไร้ศาสนา(ซึ่งดูเหมือนว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ) ให้พ้นพื้นที่การนิยามความหมายของคำว่า “คนไทย” ไม่ใช่พลเมืองหรือเจ้าของรัฐ โดยมีเครื่องมือที่เชื่อว่าไม่สร้างความรุนแรงอย่างศาสนา

เพราะศาสนาเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าโต้แย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธใน ”เมืองพุทธ” มันจึงกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองไม่ว่าอุดมการณ์หรือระบอบแบบใด ไม่ว่าจะเป็นเทวราชา ประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรืออะไรก็ช่าง คำอธิบายของพระสงฆ์เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองจึงเข้มแข็ง ทรงพลัง น่าฟังน่าเชื่อ พระสงฆ์หรืออย่างน้อยที่สุดคนที่เสื้อผ้าหน้าผมคล้ายพระสงฆ์จึงมีบทบาททางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ยุบสภาบนเวทีเสื้อแดง การออกมาเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง การเทศนาให้เห็นถึงกฤษฏาภินิหารของบูรพกษัตริย์ไทย
และถ้ายังไม่ลืม การเข้ามาในประเทศไทยของ 'สุกิตติขจโรภิกขุ' หรือ เณรถนอม กิตติขจร และ คำสัมภาษณ์ ใน นิตยสารรายสัปดาห์ “จตุรัส” ของกิตติวุฑโฒ ว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ หน้าที่ของคนไทยทุกคน เพราะการฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ซึ่งนำไปสู่การสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลา 2519

การยืดอกประกาศก้องว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธอย่างภาคภูมิคงไม่ใช่เรื่องผิดแปลก หากแต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า เป็นเมืองพุทธแบบไทยๆ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปรีดี พนมยงค์ : วันนี้ วันวาน และวันต่อไปที่จะไม่เหมือนเดิม


( สารภาพไว้ ณ ตรงนี้ว่า รีบเขียนมากเพื่อให้ได้ลงบลอคในวันปรีดีพอดี หลังจากไปร่วมฟังอภิปรายมาก่อนวันปรีดี 1 วัน เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้สถาปนามหาลัยที่ฉันรักที่สุด เนื้อหาในนี้ส่วนใหญ่ฉันจำขี้ปากนักวิชาการมามากกว่าที่จะมาสติปัญญาอันน้อยนิดของฉันเอง)

ดูเหมือนว่าคุณปรีดี และคุณพูนศุข พนมยงค์ จะไม่ได้ลาโลกของเราแล้วไปอยู่ในเฉพาะปรโลก แต่ยังไปอยู่ในโลกไซเบอร์ ซึ่งวันเปิดตัวเวปไซต์ pridi-phoonsuk.org ที่ผ่านมา ฉันมีโอกาส(อันที่จริงเรียกว่าหาโอกาส เพราะฉันโดดงานไป) ได้ไปร่วมงานและฟังอภิปราย ซึ่งฉันยังไม่หายแฮงค์เหล้าแถมตื่นเกือบเที่ยงจึงต้องกุลีกุจอไปให้ทันฟังอภิปรายโดยมีเพียง บุหรี่และกาแฟประทังชีวิตตลอดบ่าย ร้ายไปกว่านั้นฉันดูเหมือนว่าจะนุ่งshotpants อยู่คนเดียว

สารภาพไว้ตรงนี้เลยว่า แม้ว่าจะเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ป.ตรี และศิษย์ ปัจจุบัน ป.โทก็ตาม (ซึ่งยังไม่จบสักที) ฉันรู้จัก ปรีดี พนมยงค์ น้อยมากและเป็นนามธรรมว่า เป็น 1 ในคณะราษฎร เป็นเหยื่อการเมืองของชนชั้นเจ้า และ เป็นผู้สถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ( ซึ่งชื่อธรรมศาสตร์(และการเมืองในขณะนั้น) มาจากวิชาที่ปรีดี ลงทะเบียนเมื่อยังเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นวิชาที่ไม่มีใครเค้าลงทะเบียนกันแล้ว)

....อันที่จริง ฉันรู้จักนกปรีดีมากกว่าเสียด้วยซ้ำ....

แต่จะพูดแล้ว นักศึกษาธรรมศาสตร์ และน่าจะรวมคนอื่นๆด้วยรู้จักปรีดีต่างกันไป แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ของปรีดีในตะละยุคสมัยตามบริบททางการเมือง ในยุคที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ ซึ่งน่าจะเป็นเวลาเดียวกับยุคมืดของธรรมศาสตร์ในการทำความรู้จักกับปรีดี พนมยงค์ เพราะตอนนั้นนักศึกษาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครก่อตั้งมหาลัย คุณชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยังคิดว่าคนสถาปนาธรรมศาสตร์ ถ้าไม่ใช่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพี บลาๆๆ ราชบุรีดิเรกฤทธิ์สักอย่าง ไม่ก็พระเจ้าบรมวงศ์เธอ บลาๆๆ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เหมือนที่ คุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ได้พูดในงานว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 90 ปรีดี พนมยงค์ ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งอย่างชัดเจนและมากขึ้น เพียงแต่ในฐานะ คุณตาใจดี คนก่อตั้งธรรมศาสตร์และการเมือง คนรักชาติคนรักเจ้า ผู้เรียกร้องเอกราช

พูดง่ายๆคือ พอปรีดีตาย ไม่เพียงจะกลับมาดังอีกครั้งและมากขึ้น (เช่นเดียวกับคุณพูนศุข ที่ดังขึ้นทันทีที่ตายลง และถูกโยงกับการเมืองมากขึ้น ทั้งๆที่ปรีดีไม่ได้นำเรื่องการเมืองมาเล่าในบ้านมากนัก) ไม่เพียงแต่ระดับประเทศอย่าง รัฐบุรุษอาวุโส แต่ในระดับ international ฐานะบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์กรยูเนสโก

ว่าแต่ยูเนสโก รู้อะไรเกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์ บ้าง??

ดูเหมือนว่าภาพใหม่ของปรีดีดูจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทางการเมือง “แบบไทยๆ” มากขึ้น มากกว่าจะเป็นบุคคลของหนึ่งในคณะราษฎร นักสังคมนิยม หนามยอกพระอุระของชนชั้นเจ้า รวมไปถึง แพะในคดีในหลวงอานันท์สวรรคต ทำให้ "ฆาตรกร" กลายไปเป็นคุณตาใจดีภายในหนึ่งทศวรรษ จนกระทั้งในทศวรรษต่อๆมา คุณตาใจดีถูกปลุกขึ้นมาให้สวมเสื้อแดง แล้วจับไปเปรียบเปรยกับทักษิณ ชินวัตรบ่อยๆในฐานะ “คนดีที่ไม่มีที่อยู่” ?? ขณะที่เมื่อเช้านี้ ปรีดีถูกพูดอีกครั้งในวันเกิดตัวเองโดยคนขวาจัด ด้วยภาพลักษณ์ของผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวอีกครั้ง อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข !! แต่ไม่ว่าจะกล่าวสักกี่ครั้งก็ไม่มี พระยาพหลพลพยุหเสนา !!! ฉันได้แต่นั่งลุ้นว่าต่อๆไป ปรีดีจะถูกพูดถึงยังไง ด้วยภาพลักษณ์แบบไหน

...บางที ในทศวรรษถัดไป ปรีดี พนมยงค์ อาจเป็นที่รู้จักมากขึ้นในฐานะ 1 ใน 50 หนุ่มsexyมีครอบครัว (ราศีพฤษภ) ที่ตายไปแล้วในนิตยสาร cleo...

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

แฟนใหม่เรา แฟนเก่าเพื่อน


ข่าวที่ค่อนข้างหน้าตื่นเต้นฉันพอๆกับ Madonna เลิกคบกับ Jesus แล้ว (ฉันหมายถึงวงการบันเทิงนะ ไม่ใช่วงการศาสนา) ถึงขนาดสำลักบุหรี่ออกจากปอดหลังจากได้ยินทางโทรศัพท์คือ เพื่อนสนิทฉันคนหนึ่งกำลังคบหากับแฟนเก่าของเพื่อนที่สนิทฉันอีกคนหนึ่งซึ่งเลิกกันได้ไม่นาน และเพื่อนทั้งสองคนของฉันก็เป็นเพื่อนสนิทกัน มิหนำซ้ำยังให้ฉันเข้าไปดูFacebookของทั้งคู่ เพราะว่า ทั้งคู่ต่าง in relationship ด้วยกัน
ฟังดูสับสน แต่ไม่เท่าแผนผังความสัมพันธ์ที่เพื่อนฉันคนแพร่ข่าวพยายามโยงคู่ผัวตัวเมียที่ทับซ้อนกันไปๆมาๆในกลุ่ม ร่วมเกือบ 20 คน จนระโยงระยางกันอีรุงตุงนังเหมือนแผนที่เส้นทางกรมทางหลวง สายไฟบนเสาไฟฟ้าในเขตชุมชน หรือ family tree ของชนชั้นเจ้าสมัยยังเป็น polygamyแบบเปิดเผย
“มันไปสร้างความสัมพันธ์กันตอนไหนวะ ระหว่างคบกันอยู่หรือเลิกกันไปแล้ว”
“นั่นน่ะสิ” คู่สายฉันนิ่งไปพักเหมือนกำลังคิดอยู่ “มันไม่รู้สึกอะไรกันบ้างหรอวะ”
ฉันไม่รู้ว่า “ความรู้สึก” ที่ว่ามันของใคร ของแฟน ของเพื่อน หรือของตัวเอง เพราะถ้าวันใดเราพาแฟนมาเจอเพื่อนๆ ซึ่งเคยเป็นแฟนของเพื่อนมาก่อน
ฉันเคยตกอยู่ในสถานการณ์น่าลำบากแบบนั้นเมื่อฉันไปเดทกับชายคนหนึ่งซึ่งเขาพาไปรู้จักเพื่อนในกลุ่มเขาซึ่งปรากฏว่าเป็นคนที่ฉันเคยนอนด้วยมาแล้วถึง2คน ฉันเคอะเขินเล็กน้อยที่ครั้งก่อนฉันนั่งข้างผู้ชายคนหนึ่ง ครั้งนี้ฉันย้ายตำแหน่งไปนั่งข้างอีกคนในวงสนทนาเดียวกัน แต่เคอะเขินไม่เท่าสายตาประหลาดใจระคนตำหนิความสำส่อนของฉันจนถึงทุกวันนี้ นี่ยังไม่นับความแอบระแวงลึกๆในใจว่าเขาจะไม่เอาไปพูดลับหลังหรือว่า “อีนี้กูเคยอึ๊บแล้ว มึงหาดีๆกว่านี้ไม่ได้รึไง”
เพราะในสังคมไทยที่ “ความเป็นชาย” มีคุณค่ามากกว่า “ความเป็นหญิง” การอึ๊บ ซึ่งบางครั้งเราเรียกว่า “เอา” ไม่เป็นเพียงการเอาจู๋ไปจิ้มจิ๋ม หรือตำตูด แต่เป็นการประกาศสักดาอำนาจและการเข้ายึดครองแบบ “คนนี้กูเคยแล้ว” การเอาแฟนเก่าเพื่อน จึงเป็นการเก็บของเก่ากินใกล้ตัว กินของเหลือจากเพื่อน ซื้อของมืงสอง ได้ของช้ำมีตำหนิ
..รวมไปถึงเคี้ยวหมากฝรั่งต่อจากปากคนอื่น...
ไม่เพียงจะนำไปสู่นำไปสู่การเสียฟอร์มแต่มันยังนำไปสู่การกินแหนงแคลงใจกันว่ามันแอบชอบพอกันตั้งแต่เมื่อไร และการกระตุ้นคำถามในใจลึกๆว่า เพื่อนเราแอบชอบแฟนเราไหม หรือ แฟนเราเคยแอบชอบเพื่อนเราไหม ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนชั้นกลางไทยที่เต็มไปด้วยจริตและกรอบ นอกเสียจากว่าเป็นแฟนเก่าเพื่อนที่เลิกกันมานานแล้ว
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เราควรทิ้งช่วงห่างนานแค่ไหนก่อนที่เราจะเอาแฟนเก่าเพื่อนมาทำแฟน หรือเอาเพื่อนแฟนเก่ามาทำแฟนใหม่
พี่ที่สนิทกันคนหนึ่งซึ่งเป็นทั้งนักศึกษาปริญญาเอกและเพื่อนร่วมงานร่วมงานฉันบอกว่า ความบริสุทธิ์ของเราจะกลับมาอีกครั้งหลังจากที่เราไม่มีsexแล้ว 6เดือน มันเป็นกระบวนทรรศน์ที่น่าสนใจตรงที่ความบริสุทธิ์มันลื่นไหลผลิตใหม่ได้ ไม่ได้ใช้แล้วหมดไปเหมือนเชื้อเพลิงหรือก๊าซธรรมชาติ แม้ว่ายังคงอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดเรื่องการอึ๊บเอาคือการทำให้ไม่บริสุทธิ์ มีตำหนิและถูกครอบครองอยู่ก็ตาม
แม้แต่ในบางกลุ่มสังคมที่มีวัฒนธรรมย่อย สวิงกิ้ง แลกคู่นอน หรือให้เพื่อนเอาเมียเอาผัวตนเองได้อย่างไม่ถือสา เพราะเพื่อนกันแชร์กันได้ สโลแกนส.บ.ม. “สุขแบ่งมิตร” “สบายมาก” อีกทั้งยังจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ฉันเพื่อนแบบสมบัติผลัดกันชม ไม่รังเกียจรัววอนกัน เหมือนกินน้ำแก้วเดียวกัน ดูดบุหรี่มวนเดียวกัน ทว่า Sex ยังคงเป็นกระบวนการทำให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งของวัตถุอยู่ดี เพียงแต่ต่างกันที่กลุ่มนี้อาจบรรลุในพุทธศาสนาและใกล้นิพพานมากกว่า เพราะไม่ยึดติด “ตัวกู” “ของกู”
ขณะที่สังคมเอเชียในอดีต sex เป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากจิตวิญญาณและโลกหลังความตาย แต่ดูเหมือนว่าsex ถูกโยงกับโลกทางวัตถุ การสัมผัสมากขึ้น เมื่อเราทำความรู้จักและอยากเป็นชาวอารยันมากขึ้น จนเรามองข้ามไปว่าคู่ของเราที่เป็นแฟนเพื่อนมาก่อน หรือแฟนเก่าเราที่กลายมาเป็นคนรักเพื่อนเรา ก็มีอำนาจในการตัดสินใจ เลือกเป็นเลือกอะไรเป็น และอาจลืมมองไปว่า สักวันเราอาจจะกลายเป็นแฟนของเพื่อนสนิทแฟนเก่าเราก็ได้
บางที ไม่ว่าจะเป็น “แฟนใหม่เราเป็นเพื่อนของแฟนเก่าเรา” หรือ “แฟนเก่าเราเป็นแฟนใหม่เพื่อนเรา” มันเกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือมันมีแรงจูงใจบางอย่างที่เราไม่รู้ตัว คำตอบมันอาจอยู่ในสำนวนเก่าๆที่เป็นชุดความรู้จากโลกสมัยใหม่ที่ ว่า “โลกกลม” ไปหรือ พื้นที่สำหรับคนโสดมันแคบไป หรือบางทีการคบกับแฟนเก่าเพื่อนหรือเพื่อนของแฟนเก่า รู้สึกปลอดภัยและสามารถไว้วางใจได้มากกว่าเพราะเป็นคนที่เรารู้จักมักคุ้นกันมาแล้ว เพราะเรายังคงเชื่อว่าแฟนเพื่อนก็เหมือนเพื่อนเรา สามารถเป็น common friend ใน Facebook หรือ เราสามารถแอดหรือรับแอดแฟนเพื่อนหรือเพื่อนของเพื่อนอย่างไม่ต้องลำบากใจ ซึ่งมันให้สมมุติฐาน “เพื่อนกันย่อมนิสัยเหมือนกัน” เป็นจริงมากขึ้น เพราะคนที่เป็นเพื่อนก็ย่อมมีสเปคหรือรสนิยมที่ใกล้เคียงกัน บางครั้งที่เราหันไปคบกับเพื่อนของแฟนเก่า ไม่ใช่เพราะความสนิทสนมคุ้นเคยเพียงอย่างเดียว แต่เพราะเขามีอะไรบางอย่างที่ถูกใจเราเหมือนกับเพื่อนเขาที่เป็นแฟนเก่าเรา
...และแน่นอนที่สุด ถ้าเลิกกันไปแล้ว เพื่อนกันมันก็เหี้ยพอๆกัน...

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

รามเกียรติ์ : sex, ผู้หญิง, รัฐ และ อุษาคเนย์




(บทความนี้ปรับปรุงแก้ไขจาก term paper ในวิชา"หญิงกับศิลปวัฒนธรรม" และถูกนำเสนอในงานประชุมวิชาการโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา ร่วมกับหลักสูตรศิลปกรรมมหาบัณฑิต จะจัดการประชุมวิชาการประจำปี "สตรีศึกษาครั้งที่ 9 "และ"เยาวชนศึกษา ครั้งที่2" ในหัวข้อ"สตรีและเยาวชนศึกษากับการสร้างบ้านแปงเมือง" ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2552 ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


I

วรรณกรรมที่ได้รับความนิยมในแทบทุกสังคม ตั้งแต่ยังเป็นเพียงวรรณกรรมประเภทมุขปาฐะ ยังไม่ได้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นตำนานเล่าขานปากต่อปาก มักเป็นวรรณกรรมประเภทมหากาพย์ที่กล่าวถึงวีรบุรุษเรื่องราวการสู้รบระหว่างผู้ชายเพื่อแย่งชิงผู้หญิง การช่วงชิงการนิยาม “ ความผิด - ความถูกต้อง ” และการให้ความหมายของคำว่า “ศัตรู” และ “ความดี - ความเลว” และ “พวกเขา – พวกเรา” ฉะนั้นวรรณกรรมประเภทนี้จึงไม่เพียงแต่สัมพันธ์กับนักรบนักปกครอง แต่ยังต้องสัมพันธ์กับศาสนาความเชื่อ เพื่อนิยามลักษณะความหมายของความผิดชอบชั่วดี ด้วยเหตุนี้มหากาพย์จึงถูกแต่งเพื่อรับใช้ศาสนาความเชื่อและอำนาจรัฐนักปกครอง ทั้ง 2 สถาบันที่ควบคุมกำกับโอกาสและอำนาจในการอ่านและการเขียน

มหากาพย์จึงไม่ใช่วรรณกรรมการเมืองอย่างเดียวหากแต่บางครั้งยังเป็นวรรณกรรมทางศาสนาด้วย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ผู้ปกครองหรือผู้ครอบครอง ที่ต้องอาศัยศาสนาในการควบคุมความคิดความอ่านและความเชื่อ ซึ่งรามเกียรติ์ก็ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการสถาปนาอำนาจของรัฐ (จารีต) เหนืออำนาจอื่นๆไม่ว่าจะเป็นชุมชนเล็กๆ ชาวพื้นเมือง หรือรัฐอื่นๆก็ตาม

ทั้งนี้เพื่อให้กษัตริย์ไม่เพียงสถาปนาเป็นศูนย์รวมอำนาจแต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจความศรัทธาผ่านนิทานปรัมปรา ซึ่งบางเรื่องถูกสถาปนาเป็นมหากาพย์หรือคัมภีร์ อย่างรามายณะ ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของ “ราม” กษัตริย์ผู้ถูกสรรเสริญว่าเป็นปางหนึ่งในสิบปางของพระนารายณ์ที่อวตารมาช่วยเหลือโลกมนุษย์ อันเป็นปางที่มีชื่อว่า รามาวตาร เชื่อกันว่าประพันธ์ในพุทธศตวรรษที่ 7 จากคำร้องปากเปล่าที่เล่าต่อสืบกันมานานก่อนหรือร่วมสมัยกับพุทธกาล และเป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางทั้งในอินเดียใต้ เบงเกอล และ สุวรรณภูมิ ทั้งสำนวนของชาวบ้านและราชสำนัก

รามายณะถือว่าเป็นมรดกอีกชิ้นหนึ่งที่สังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมาจากเขตวัฒนธรรมอินเดีย เช่นเดียวกับคติการนิยมกษัตริย์ประหนึ่งเทพเจ้าที่สอดคล้องกับตัวบทวรรณกรรมเป็นอย่างดี ทำให้รามายณะเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นเจ้า เห็นได้จากในชวาตอนกลางมีการสลักระเบียงเป็นภาพนูนเล่าเรื่องรามายณะ ณ เทวสถานปรัมบะนัน สุสานบรรจุพระศพของกษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ในหลวงพระบาง ณ วัดเชียงทองมีโรงเก็บราชรถพระโกศของพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ที่ประตูด้านนอกอาคารแกะสลักลงรักปิดทองด้วยเรื่องราวพระรามชาดกหรือรามายณะลาว ปราสาทบันทายสรีและนครวัดในกัมพูชา มีการสลักเล่าเรื่องรามายณะในตอนต่างๆ และวัดพระแก้วมรกตในพระบรมหาราชวังกรุงพนมเปญ มีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องรามายณะที่พระระเบียงรอบอุโบสถ เช่นเดียวกับในสยามประเทศมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องรามายณะรอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในสยามประเทศ รามายณะมีอีกชื่อหนึ่งว่า “รามเกียรติ์” พบว่ามีการแก้ไขตกแต่งใหม่หลายครั้ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ถูกแต่งขึ้นในนามพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในฐานะพระราชนิพนธ์เพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ให้ครบถ้วนตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งแต่ละบทตอนของรามเกียรติ์นั้นมักถูกนำมาใช้เทียบกับเหตุการณ์ของกษัตริย์ผู้เชื่อว่าประหนึ่งนารายณ์อวตารเป็นพระราม อย่างในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ประทับพลับพลาหน้าวัดโพธารามก่อนจะลงเรือไปปราบจลาจลที่ฝั่งธนบุรี ด้วยเหตุที่กล่าวว่าพระเจ้าธนบุรีเสียสติ ซึ่งในครั้งนั้นได้คุมขังลูกเมียของพระยากษัตริย์ศึกไว้ด้วย หลังจากปราบดาภิเษกจึงมีการสลักเล่าเรื่องรามเกียรติ์ว่าด้วยตอนพระรามทำสงครามกับเจ้าเกาะลงกาเพื่อชิงตัวนางสีดากลับคืนอโยธยา เป็นรูปนูนต่ำที่หน้าบันพระวิหารทิศทั้ง 4 และวิหารคดทั้ง 4 ในวัดโพธารามหรือวัดพระเชตุพน และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เล่นละครโขนตอนพระรามเดินดงเพื่อรักษาสัตย์ให้กับพระบิดา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดให้แสดงโขนกลางแปลงที่ท้องสนามหลวงตอนพระรามเข้าเมือง ในครั้งที่เสด็จกลับยุโรปเป็นครั้งแรก

วรรณกรรมเรื่องนี้จึงเป็นศิลปะราชสำนักโดยไม่ต้องสงสัย ซึ่งสำนึกในเรื่องศิลปะของสังคมชนชั้นสูงไทยนั้นถือว่าเป็นของกษัตริย์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ไม่ปรากฏนามผู้ประพันธ์หรือผู้สร้างเพราะถือว่าถวายกษัตริย์ การประพันธ์หรือแก้ไขบทวรรณกรรมรามเกียรติ์จึงอยู่ในนามของกษัตริย์เสียส่วนใหญ่

ศิลปะชนชั้นสูงนั้นมีลักษณะที่เห็นได้ชัดคือเน้นความสวยงามตามอุดมคติ เห็นได้จาก พระราม ตัวละครเอกในเรื่องที่มีลักษณะอ้อนแอ้น สวยงาม ตามลักษณะเทวดาที่อิ่มทิพย์สุขสบาย ผิดลักษณะของกษัตริย์ในความเป็นจริงที่ต้องเป็นนักรบ

ตรงกันข้ามกับศิลปะพื้นบ้านที่มีความลื่นไหล ไม่ตายตัวและสอดคล้องกับวิถีชีวิต เป็นความงามที่มีไว้ใช้ ไม่ใช่ความงามที่มีไว้ชม อันเป็นเรื่องอุดมคติมากกว่าความเป็นจริง เช่น ชะลอม กระบุง อย่างไรก็ตามวรรณกรรมรามเกียรติ์ กลับถูกยกย่องให้เป็นศิลปะของชาติไทย (แม้ว่าจะเป็นศิลปะนำเข้า และเป็นวรรณกรรมที่นิยมกันในกลุ่มคนบางกลุ่มเล็กๆ ต่างจากลำตัด ลิเก หมอลำ เพลงฉ่อย ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในระดับชาวบ้าน)

ด้วยความที่รามเกียรติ์เป็นวรรณกรรมแห่งราชสำนักไทย จึงมีการประพันธ์แสดงและโดยกลุ่มชนชั้นเจ้า เพื่อให้เนื้อหาถูกจริตของตนและสอดคล้องทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองอันเป็นโลกของผู้ชาย ซึ่งตัวตนของผู้หญิงในชนชั้นสูงนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย เป็นชนชั้นที่นับสายตระกูลทางพ่อ ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจำต้องรักษาพรหมจรรย์ ไม่สามารถสนองความต้องการทางเพศได้ด้วยตนเองและตามความปรารถนาของตนเอง ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจของผู้ชายในตัวผู้รับมรดกว่าเป็นลูกของตนจริงๆ ตลอดจนต้องจงรักภักดีต่อสามีอย่างซื่อสัตย์ในฐานะผู้ปกครอง ประดุจนางแก้วอย่างนางสีดา

แตกต่างจากชนชั้นล่างที่ผู้หญิงมักมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ และการดำรงชีพ ผู้หญิงชนชั้นล่างสามารถเลือกหาผัวได้ตามใจชอบ และไม่ได้ยึดติดกับพรหมจรรย์ของตนเอง เพราะนับการสืบตระกูลทางฝ่ายแม่ ผู้หญิงจึงสามารถเปลี่ยนผัวได้หากผัวที่ตนมีอยู่ไม่ถูกจริตกับตน เมื่อผู้หญิงมีผัวก็จะพามาอยู่ในบ้านของผู้หญิงกับครอบครัวของฝ่ายหญิง ผัวจึงไม่มีอำนาจมากไปกว่าเมีย ดังนั้นสังคมของผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็น “มาตาธิปไตย” ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมพื้นถิ่นดั้งเดิมตามอุษาคเนย์และอินเดียใต้อย่างชาวทมิฬ


II

รามเกียรติ์นั้น หมายถึง เกียรติของพระราม ต่างจากความหมายเดิมของเรื่องรามายณะ ที่แปลตามศัพท์ได้ว่า “ การไปของพระราม ” หมายถึงการเดินทางของพระรามอันทุรกันดารในระหว่างที่อยู่ป่า 14 ปี ตามเนื้อเรื่องของรามเกียรติ์ที่รายล้อมรอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เน้นเรื่องราวของมหายุทธระหว่างพระรามเจ้าชายอโยธยากับทศกัณฐ์เจ้าเมืองลงกา เนื่องมาจากทศกัณฐ์หลงรักนางสีดา มเหสีพระรามจึงลักพาตัวมา เป็นเหตุให้พระรามต้องทำศึกพาตัวนางสีดากลับคืน

รามเกียรติ์จึงเป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นเพื่อประกาศถึงความสำเร็จในการขยายอำนาจของชาวอารยัน จากภาคเหนือสู่ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตกและมาถึงตอนใต้ของชมพูทวีป พร้อมทั้งสถาปนาอำนาจของเผ่าพันธุ์ตนเหนือชาวพื้นเมืองดั้งเดิม โดยเสนอเรื่องเล่าในรูปแบบสัญลักษณ์ ให้ชาวอารยันคือตัวพระราม เป็นเทพเจ้าในศาสนาของอารยันอวตารลงมาโลกมนุษย์ เพื่อมากำจัดความชั่วร้าย อสูร รากษส ซึ่งหมายถึงชาวฑราวิท ชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชมพูทวีปก่อนหน้านี้ ซึ่งชาวฑราวิทก็คือชาวทมิฬ ชาวอินเดียใต้ในปัจจุบัน ที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับอุษาคเนย์ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เคารพผืนดินและเทพเพศหญิงในฐานะผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต ฉะนั้นการเดินทางของพระรามในรามายณะ ไม่เพียงแต่เป็นการเข้ารุกรานชาวฑราวิท กดบังคับและกำจัดความเป็นอื่นที่เป็นภัย แต่ยังเป็นการล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม เผยแพร่กระบวนทัศน์ของอารยันและศาสนาของพวกพราหมณ์ที่เชื่อว่ามีเทวดาอยู่บนสวรรค์ เป็นการครอบงำความเชื่อและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวพื้นเมือง รวมไปถึงการเผยแผ่อำนาจผู้ชายให้เหนืออำนาจผู้หญิง อย่างไรก็ตามนิทานรามเกียรติ์ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ผู้หญิงยังมีบทบาทสำคัญ รวมไปถึงความต้องการทางเพศของผู้หญิงพื้นเมืองในสังคมระบอบมาตาธิปไตย ที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในเนื้อเรื่อง

แต่สำหรับสังคมชนชั้นสูงแล้วผู้ชายยังคงเป็นศูนย์รวมอำนาจ หัวหน้าชาวฑราวิทจึงถูกสร้างให้เป็นตัวแทนเสมือนชายผู้มีความดิบเถื่อนอย่างทศกัณฐ์ ผู้ไม่ได้รับกระบวนการขัดเกลาความเป็นเมือง ( civilization ) อย่างชนชั้นสูงของพระราม ในรามายณะทศกัณฐ์มีชื่อว่า ราวัณ (Ravana) หรือ ราพณ์ ซึ่งน่าจะแผลงมาจากภาษาทมิฬคำว่า อิไรวัน,อิเรอิวัน ซึ่งแปลว่า พระเจ้าหรือกษัตริย์

หัวหน้าของชาวอินเดียใต้จึงมีสภาพนอกเหนือกฎระเบียบและความเข้าใจของชาวอารยัน ภาพของทศกัณฐ์จึงเปรียบได้กับสัตว์ประหลาดที่มีร่างกายมหึมา โหดร้าย กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร เป็นอมตะ ดังที่ทศกัณฐ์แยกดวงใจออกจากกาย หรือ ราวัณเก็บน้ำอมฤตไว้ที่ท้อง จึงฆ่าไม่ตาย

การที่ทศกัณฐ์ สมสู่กับปลาจนเกิด นางสุพรรณมัจฉา สมสู่กับช้างเกิดกุมารยักษ์หน้าเป็นช้างชื่อ ทศคีรีธร กับ ทศคีรีวัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริวารของทศกัณฐ์ อาจเป็นสัญลักษณ์ที่กล่าวถึงชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของชาวฑราวิทที่แผ่ขยายอำนาจผ่านทางการสร้างเครือญาติ ซึ่งคือนางปลาหรือนางช้าง รวมไปถึงนางกากนาสูร ญาติทศกัณฐ์ ที่เป็นยักษ์มีปากเป็นกา ก็คือชุมชนบางชุมชนที่กราบไหว้ช้าง ปลา และนก บูชาสัตว์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Totemism) ซึ่งมีทั่วไปในเขตวัฒนธรรมอินเดีย หรือสะท้อนให้เห็นความฝันเฟื่องของผู้แต่งที่ไร้ขอบเขต ก้าวข้ามกรอบเพศวิถี จนคนสามารถสืบพันธุ์กับสัตว์ได้


นอกจากนี้ทศกัณฐ์ยังมีมเหสีที่สำคัญในเรื่องได้แก่ นางอัคคี (ธิดาพระกาลนาค) และนางมณโฑ (นางคางคก) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการได้ครอบครองชนเผ่าต่างๆที่บูชางูและคางคก (พญาคันคาก totem ที่ชาวอินเดียใต้และอุษาคเนย์นิยมบูชา) ซึ่งนางอัคคีเป็นมเหสีทศกัณฐ์เพราะพระยากาลนาคเจ้าเมืองบาดาล รบพ่ายแพ้ท้าวลัสเตียน พ่อของทศกัณฐ์ จึงได้ถวายนางอัคคีราชธิดา ซึ่งท้าวลัสเตียนได้ประทานให้แก่ทศกัณฐ์อีกที เมื่อทศกัณฐ์ปกครองกรุงลงกาต่อจากท้าวลัสเตียน นางอัคคีได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอัครมเหสี
ส่วนนางมณโฑนั้น เป็นอัครมเหสีของทศกัณฐ์ เพราะครั้งหนึ่งเขาไกรลาสเอียง ทศกัณฐ์ได้ผลักดันให้ไกลลาสตั้งดังเดิม จึงทูลขอพระอุมาจากพระศิวะ พระศิวะปฏิเสธไม่ได้จึงต้องยกพระอุมาเป็นรางวัล แต่แล้วทศกัณฐ์จำต้องนำกลับมาคืนพระศิวะ เพราะไม่สามารถแตะต้องตัวนางได้เพราะกายนางร้อน (เพราะในเรื่อง พระอุมาเป็นเทพเจ้าที่ไม่ว่าทั้งยักษ์หรือมนุษย์ย่อมไม่สามารถเข้าถึง นางจึงอยู่ในสภาวะ “ความเป็นเอกเทศ” กลายเป็นความเป็นอื่นที่ยิ่งใหญ่ ตรงกันข้ามกันทศกัณฐ์ที่เป็นอื่นและเป็นภัย) แล้วทูลขอนางมณโฑแทน ขณะที่ทศกัณฐ์อุ้มนาง มณโฑกลับกรุงลงกา ได้ต่อสู้กับพาลีเจ้าเมืองขีดขินจนพ่ายแพ้เสียนางมณโฑให้แก่พาลีไป
ฤๅษีอังคต อาจารย์ของพาลีเกลี้ยกล่อมให้พาลีคืนนางมณโฑให้กับทศกัณฐ์ แล้วควักลูกในท้อง อันเกิดกับพาลีออกมาใส่ท้องแพะแทน จากนั้นจึงค่อยนำนางมณโฑส่งกลับทศกัณฐ์ ซึ่งนางมณโฑไม่เห็นด้วยที่ต้องพรากลูกไปจากตน นางร้องไห้เสียใจจนสลบไป
นางมณโฑเดิมเคยเป็นเมียให้กับพระศิวะ และต่อมาเป็นเมียพาลี แต่ในเรื่องนางไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนกับการเคยมีผัวมาก่อนหน้านี้ (เช่นเดียวกับที่ทศกัณฐ์ไม่ยี่หระว่าผู้หญิงที่ตนปรารถนาเคยเป็นเมียใคร) เพราะนางมีชาติกำเนิดจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งในเรื่องเล่าว่า นางเกิดจากคางคกที่ถูกชุบชีวิตโดยฤๅษี เนื่องมาจากวันหนึ่ง นางนาคี ลูกสาวพญากาลนาค อยากมีคู่ครองจึงขึ้นมาจากบาดาล ได้มาสมสู่กับงูดินตัวผู้ ขณะเดียวกัน ฤๅษีทั้งสี่ตนที่อยู่ในป่าหิมพานต์ มาเห็นพอดีเกิดปลงสังเวช เอาไม้เท้ามาเคาะที่กลางหลังจนนางนาคีตกใจและอับอายจึงแทรกแผ่นดินหนีไป

ด้วยความอายและกลัวว่าฤๅษีทั้ง 4 จะนำความไปฟ้องพ่อของตน นางจึงขึ้นมายังอาศรมฤๅษี คายยาพิษใส่อ่างน้ำนมเพื่อฆ่าปิดปาก แต่นางคางคกเห็นเหตุการณ์หมดทุกอย่างและด้วยสำนึกในพระคุณที่ฤๅษีต่างแบ่งน้ำนมให้ดื่มทุกวัน จึงกระโดดลงไปในอ่างน้ำนมถึงแก่ความตาย เมื่อฤๅษีทั้ง 4 เห็นศพนางคางคกลอยอืดบนอ่างน้ำนม เกิดความรู้สึกสมเพศเข้าใจว่าละโมบตะกละตะกลามแย่งกินนมจนตาย แต่ก็ช่วยชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ นางคางคกเล่าความจริงให้ฟังทุกอย่าง ฤๅษีจึงสรรเสริญในความดีของนางแล้วร่วมกันชุบร่างกายนางให้เป็นผู้หญิงรูปงามนามว่า “ มณโฑ ” ตามชาติกำเนิดของนางที่เป็นคางคก (มณฑก แปลว่า คางคก) หลังจากนั้นจึงนำไปถวายพระศิวะ

แม้ว่านางมณโฑจะมีพื้นเพเป็นชนพื้นเมือง แต่นางก็เข้ามาอยู่ในสังคมเจ้า ต้องสละลูกของตนเองให้อยู่ในการครอบครองของสามีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลูกที่เกิดจากนางจึงไม่ได้เป็นสมบัตินาง หากแต่ตกเป็นสมบัติของผู้ชายทั้งพาลีและทศกัณฐ์ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความจำเป็นว่าลูกของนางจะเกิดออกมาจากท้องแพะหรือท้องนางเอง

อีกทั้งการทำคลอดและการตั้งครรภ์ อันเป็นปริมณฑลเฉพาะของผู้หญิงและหวงห้ามสำหรับผู้ชายอีกทั้งยังเป็นองค์ความรู้ของผู้หญิงที่ถ่ายทอดกันในกลุ่มผู้หญิง การที่ฤๅษีกับทศกัณฐ์ พยายามเอาลูกในครรภ์นางใส่ไว้ในท้องแพะจึงเป็นการแสดงอำนาจเพศชายผ่านทางรัฐและสถาบันศาสนาเพื่อที่จะเข้ามารุกล้ำพื้นที่เฉพาะของผู้หญิงที่ผู้หญิงสามารถสร้างอำนาจได้ด้วยตนเอง เป็นการช่วงชิงอำนาจของผู้ชายไปจากผู้หญิงโดยผู้ชายชนชั้นปกครองและชนชั้นนักบวช

แต่อย่างไรก็ตามนางมณโฑเองก็ยังมีบทบาทในด้านพิธีกรรมทางศาสนาเช่นกันซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เฉพาะของนางที่ผู้ชายไม่สามารถเข้ามารุกล้ำได้ คือ นางสามารถประกอบพิธีหุงน้ำทิพย์ ที่ปลุกชีวิตคนตายให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อของอารยันในคัมภีร์พระเวทที่ผู้หญิงไม่สามารถประกอบพิธีกรรมใดได้หากปราศจากผู้ชาย หนำซ้ำการที่มีผู้ชายเข้ามาใกล้นางมณโฑระหว่างทำพิธีเป็นการก่อกวนในการประกอบพิธีกรรม ถือได้ว่าเป็นพื้นที่การสร้างอำนาจของผู้หญิงจริงๆ ซึ่งเป็นเหตุให้ทหารลิงของพระรามทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ของนางได้สำเร็จและปราบไพร่พลยักษ์ตายเป็นจำนวนมาก

III

หากนางมณโฑน่าจะเป็นตัวแทนของชาวพื้นเมืองที่กราบไหว้คางคกหรือคันคาก ทหารลิงของพระรามที่ช่วยรบกับยักษ์นั้น น่าจะเป็นชนพื้นเมืองที่บูชาลิงเป็นเทพเจ้าและเข้าสวามิภักดิ์ต่อชาวอารยัน กล่าวกันว่าในเขตวัฒนธรรมอินเดียนั้นนับถือลิงมาตั้งแต่ในอดีต แม้แต่ชาวธิเบตยังมีความเชื่อว่าตนสืบเชื้อสายมาจากลิง อีกทั้งลิงกับมนุษย์ต่างมีความผูกพันกันมาแต่อดีต พบว่ามีโบราณวัตถุคนจูงลิงตามแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีในเมืองโบราณเสนจัน

ลิงเป็นสัตว์ที่ฉลาด รวดเร็วคล่องตัว มีลักษณะมนุษย์ มี 2 มือ 2 เท้า เลี้ยงลูกด้วยนม นอกจากนี้ยังมีเซลล์ที่ใกล้เคียงกัน ทำให้มีความเข้าใจผิดว่าลิงเป็นช่วงหนึ่งของวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ การเปรียบชนพื้นเมืองที่เข้าช่วยพระรามรบกับทศกัณฐ์เป็นลิงนั้น แสดงถึงว่าชาวอารยันเป็นชาติที่มีวิวัฒนาการที่สมบูรณ์ ผิดกับชนพื้นเมืองที่ยังพัฒนาไม่ถึงขั้นเดียวกัน
ซึ่งลิงกับยักษ์นั้นในรามเกียรติ์กล่าวว่ามีชาติกำเนิดเดียวกันคือ เกิดจากต้นไผ่ที่ผุดขึ้นมาระหว่างฤๅษีสุขวัฒนะกำลังเข้าฌาน จึงนำไปถวายพระศิวะทำคันศร เมื่อพระศิวะลองโก่งดู ก็หักออกเป็น 2 ท่อนพระองค์จึงโยนทิ้งไป ปลายธนูกลายเป็นพญาวานรชื่อ นิลเกสร ส่วนโคนธนูกลายเป็นพญาอสูรชื่อ เวรัมภ์ และยังทำนายด้วยว่าวานรมีกำเนิดจากปลายธนูจักชนะ

ในอินเดียนั้น หนุมานได้รับการนับถือบูชาเป็นเทพองค์หนึ่ง เหตุเพราะมีความเก่งกาจสามารถ มีจิตใจซื่อตรง ภักดีต่อพระรามนางสีดา ขณะที่หนุมานรามเกียรติ์กลับเจ้าชู้ตามแบบฉบับ “ความเป็นชายไทย” เป็นหนุมานชาญสมร ทั้งสมรที่แปลว่า ผู้หญิง และ การรบ สามารถสมสู่กับผู้หญิงที่พบขณะปฏิบัติภารกิจได้ ซ้ำยังเจ้าเล่ห์แสนกล ดูเป็นลิงที่เก่งมากกว่าจะเป็นเทพเจ้า เพราะคนไทยถือว่า กษัตริย์เท่านั้นที่ประหนึ่งเทพเจ้า ที่ข้าราชการบริวารรวมไปถึงพสกนิกรจำต้องภักดีประหนึ่งหนุมานที่ภักดีต่อพระราม
เนื่องมาจากรามเกียรติ์นั้นมีลักษณะเป็นเทพนิยายมากกว่าเป็นพระคัมภีร์แบบรามายณะ (จบแบบ happy ending เช่นเดียวกับรามเกียรติ์ในลาว ผิดกับรามายณะสำนวนอินเดีย เขมรและชวาที่ทั้ง 2 ต้องพรากจากกันนิรันดร) ดังนั้นความเป็นเทพเจ้าของตัวละครไม่ได้เข้มข้นเท่ากับรามายณะในอินเดีย ตัวละครแต่ละตัวจึงดูมีความเป็นมนุษย์มากกว่า นางสีดาจึงมีพฤติกรรมคล้ายนางในวรรณกรรมไทยอื่นๆมากกว่าเทพเจ้าอวตาร แสดงอารมณ์น้อยใจได้เหมือนผู้หญิงปรกติ ยามด่านางก็สามารถด่าทศกัณฐ์ได้เก่งพอๆกับนางวันทองด่าขุนช้าง ไม่ได้มีความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์เหมือนเทวีได้เท่านางสีดาแห่งรามายณะ ที่มีความเด็ดเดี่ยวภายใต้ระบบสัญลักษณ์ของผู้ชาย เยือกเย็นนุ่มนวลและรู้จักควบคุมอารมณ์ แต่ถึงอย่างไรนางสีดาในวรรณกรรมทั้ง 2 ต่างก็ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติผู้หญิงที่ควรมีคือซื่อสัตย์ต่อสวามี

ส่วนราวัณนั้นถือว่าเป็นกษัตริย์ชาวฑราวิทที่ได้รับความเคารพนับถือจากชาวอินเดียใต้ ว่าเป็นผู้ภักดีในเทพเจ้าพื้นเมืองหรือพระศิวะ เสียสละเพื่อการศึกษาและมีความชำนาญด้านกวี ดนตรี มากกว่าทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ที่ดูเป็นอสูร รากษส ตัวแทนแห่งความชั่วร้าย เปี่ยมไปด้วยราคะและความโหดร้าย

ทศกัณฐ์และบรรดาเครือญาติชาวฑราวิทนั้น ในเนื้อเรื่องถูกจัดให้ดำรงอยู่ในสถานะเป็นยักษ์หรือสัตว์ประหลาด (abject) บ้างมีสิบหัวยี่สิบมือ มีแปดมือ มีหัวเป็นกา มีหน้าเป็นช้างบ้าง เนื่องจากไม่ได้อยู่ชุดความเข้าใจของมนุษย์ และเป็นภัยต่อกฎระเบียบของอารยัน
การไม่ปฏิบัติตามความต้องการของพระรามที่จะให้ปล่อยตัวนางสีดาคืนกลับมาได้ ย่อมเท่ากับว่าไม่สามารถเข้าร่วมสังคมของอารยันได้ จึงต้องอยู่ภายนอกสังคม เป็นคนอื่น เป็นศัตรูอยู่นอกอาณาเขต เป็นที่หวาดกลัวของ “มนุษย์” อย่างพระรามว่าจะถูกบุกรุกโดยสัตว์ประหลาด ดังที่พระลักษมณ์ใช้คันศรลากรอบๆอาศรมไม่ให้นางสีดาออกจากบริเวณนั้นและเพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าไปทำร้ายนางขณะที่พระลักษมณ์ออกไปช่วยพระรามตามจับกวางทองที่มารีศแปลงกายมาลวง

แต่ในขณะที่ พิเภก น้องชายแท้ๆของทศกัณฐ์ เป็นยักษ์ที่เข้าสวามิภักดิ์กับพระราม มีอุดมการณ์สอดคล้องกับพระรามและพวก จึงได้รับการเคารพยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกัน สามารถอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกันได้ ไม่ได้มองเป็นสัตว์ประหลาดอย่างทศกัณฐ์และยักษ์ตัวอื่นๆ

IV

ในสังคมบุพกาล การต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นการล่าสัตว์หรือการรบกับ “สัตว์ประหลาด” ย่อมทำให้ผู้ชายได้รวมกลุ่มกันเป็นพวกพ้อง รู้จักใช้อาวุธและมีพื้นที่นอกบ้าน แม้การล่าสัตว์จะไม่ได้เป็นกิจวัตรประจำวันของผู้ชาย แต่ก็ทำให้ “พละกำลัง” “เทคโนโลยี” และ “วัฒนธรรม” เป็นคุณค่าที่ถูกผูกติดไว้กับคุณสมบัติของ “ความเป็นชาย” ขณะที่ “ความอ่อนโยน” “ความลึกลับ” “ธรรมชาติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การให้กำเนิด” กลายเป็นคุณสมบัติของ “ความเป็นหญิง” ทั้งนี้เพราะความไม่เข้าใจในชีววิทยา จึงไม่สามารถอธิบายการไหลของระดูและการคลอดลูกได้ของผู้หญิง เมื่อผู้ชายไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงผู้หญิงได้ ผู้หญิงจึงดำรงสภาพที่ “เป็นอื่น” ไปจากผู้ชาย

จากการศึกษาของเองเกลส์ การตั้งท้องและการเป็นแม่คนนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ชายในอดีตไม่สามารถอธิบายและเข้าใจได้ ทำให้เชื่อว่าผู้หญิงมีอำนาจมหัศจรรย์อันลึกลับที่เนรมิตมนุษย์ อันเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงเผ่าพันธุ์และเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการดำรงชีวิตเช่นแรงงานในการเกษตร ทำให้สังคมในยุคนั้นยกย่องและบูชาผู้หญิงที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้เอง เกิดการสืบเชื้อสายทางฝ่ายแม่ เด็กไม่มีความจำเป็นต้องรู้จักพ่อ สำนึกเกี่ยวกับพ่อไม่ได้เกิดในช่วงสมัยนั้น เพราะเชื่อว่าเด็กเกิดมาเองด้วยอำนาจอันลึกลับของผู้หญิง เหมือนที่นางสวาหะยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลมแถวเชิงเขาจักรวาลจนให้กำเนิดหนุมาน ด้วยเหตุนี้จึง การที่นางสวาหะให้กำเนิดหนุมานด้วยการอ้าปากรับอาวุธพระศิวะ (หรือน้ำอสุจิของพระศิวะ) ที่พระพายซัดเข้าปาก จึงแสดงถึงการที่ผู้หญิงมีลูกได้เองโดยผู้ชายไม่มีตัวตนใดๆเหมือนพระพายที่ไม่มีใครมองเห็น ซึ่งการที่มองไม่เห็นพ่อของเด็กหรือไม่รู้ว่าพ่อของเด็กเป็นใครนั้น ยิ่งทำให้การท้องเป็นอำนาจของผู้หญิงที่ผู้ชายต่างหวาดกลัวเพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายและนำไปสู่การควบคุมได้ เนื่องจากเป็นประสบการณ์ที่ผู้ชายไม่เคยมีและไม่มีวันมี การที่นางสีดาถูกขับออกไปคลอดลูกในอาศรมฤๅษีวัชมฤคในป่ากาลวาต สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการปราบปรามความเป็นอื่นที่พบในผู้หญิงของผู้ชาย ซึ่งการให้ผู้หญิงไปคลอดลูกที่อื่นเป็นวัฒนธรรมของอารยันที่ยังพบเห็นได้เมื่อ2,500กว่าปีที่ผ่านมา ดังในพุทธประวัติที่นางสิริมหามายาต้องกลับบ้านเมืองตนเองเพื่อคลอดเจ้าชายสิทธัตถะ

การที่ผู้หญิงถูกมองเป็นอื่นสำหรับผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงไม่ได้ดำรงสถานะอย่างมนุษย์ หากแต่เป็นสัตว์ที่แตกต่างพิเศษจากสัตว์เดรัจฉานอื่นก็คือมีเขางอกที่กลางอกไม่ใช่บนหัว เหมือนที่พ่อของฤๅษีกไลโกฏ เตือนไว้ในตอนหนึ่งของรามเกียรติ์ว่าให้ระวังสัตว์ที่มีเขากลางหน้าอกเพราะเป็นอันตราย แต่แล้วฤๅษีกไลโกฏก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับสัตว์ประเภทนี้ เมื่อตอนบำเพ็ญตบะจนทำให้ฝนแล้งเป็นระยะเวลา 3 ปี ร้อนถึงท้าวโรมพัต เจ้าเมืองโรมพัตต้องส่ง นางอรุณวดี ลูกสาวไปยั่วยวนจนตบะแตก จนฝนฟ้าตกตามปรกติ นางจึงเชื้อเชิญฤาษีกไลโกฏไปอยู่ด้วยกันในนครโรมพัต

อย่างไรก็ดี การที่ฤาษีกไลโกฏตามนางอรุณวดีไปอยู่ในเมืองด้วยกัน ก็แสดงให้เห็นการแต่งงานแบบมาตาลัยได้ดีในสังคมเอเชียบางกลุ่มและเห็นมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมื่อแต่งงานกันฝ่ายชายจะต้องย้ายไปอาศัยบ้านเรือนผู้หญิง อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของครอบครัวผู้หญิง ตลอดจนอยู่ในสังกัดตระกูลผู้หญิง ผู้ชายจึงมีสิทธิ์และเสียงอย่างจำกัด ทำให้เกิดคำว่า ”เจ้าบ่าว” สำหรับการแต่งงาน เพราะผู้ชายจะเข้าไปเป็นบ่าวในบ้านของผู้หญิง

นอกจากนี้ผู้หญิงชนพื้นเมืองอินเดียและอุษาคเนย์ยังมีอำนาจในการเลือกคู่ครองได้เอง เห็นได้จาก นางอัศมูขี ที่เป็นยักษ์มีร่างใหญ่โตราวต้นตาล ตัวดำสนิทดั่งดินหม้อ อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งพบเห็นพระรามและพระลักษมณ์เดินทางเพื่อตามหานางสีดา เกิดตกหลุมรัก อยากได้มาเป็นผัวจึงบันดาลให้แผ่นดินไหวท้องฟ้ามืดมิด แล้วอุ้มพระลักษณ์เหาะหนีไป พระลักษณ์ได้สติจึงร่ายเวทมนต์ให้นางยักษ์ตกลงมา จากนั้นจึงเหยียบหน้าอกนางพร้อมใช้พระขรรค์ฟันแขนทั้ง 2 ข้าง โบยด้วยคันศร จนนางอัศมูขีเจ็บปวดอย่างมากจึงร้องขอให้ไว้ชีวิต แล้ววิ่งหนีเข้าป่าไป

ขณะที่ในรามายณะ หรือ รามจริตของตุลสีทาส ซึ่งเป็นฉบับที่ชาวอินเดียเหนือจำนวนมากนับถือ ประหนึ่งคัมภีร์ไบเบิ้ลของชาวคริสต์ กล่าวถึงรากษสี ชื่อ อโยมุขี หลงรักพระลักษมณ์จึงเข้ามากอดรัด เป็นเหตุให้พระลักษมณ์.ใช้พระขรรค์ฟัน เต้านม หู จมูก และขาด นางจึงหนีไป ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการแสดงออกถึงความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของพระรามพระลักษมณ์แต่ยังเป็นการใช้อำนาจในฐานะอารยันลงโทษผู้ที่มีวิถีชีวิตแตกต่างออกไป ด้วยการตัดอวัยวะต่างๆ ซึ่งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าร่างกายคือเป้าหมายของการลงทัณฑ์ นอกจากนี้ยังเป็นการประกาศและแสดงอำนาจอันเด็ดขาดของกษัตริย์บนร่างกายของนักโทษในฐานะเวทีอันเป็นลักษณะของการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เคยเกิดขึ้นในตอนที่นางสำมนักขามาหลงรักพระราม ซึ่งกลับกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามในเรื่อง

นางสำมนักขาเป็นน้องสาวทศกัณฐ์ ในรามายณะนางมีชื่อว่าศูรปนขา เป็นม่ายผัวตาย กระวนกระวายอยากมีคู่ครองใหม่ วันหนึ่งเหาะข้ามมหาสมุทรป่าดงพงพีจนถึงแม่น้ำโคธาวารีที่พำนักของพระราม เมื่อแรกเห็นพระรามเกิดพึงพอใจอยากได้มาเป็นผัวจึงขออยู่ใกล้ชิดพระราม นางให้เหตุผลว่านางเป็นผู้ที่มีพละกำลังและอำนาจมากไม่เหมือนนางสีดา พระรามสมควรเป็นผัวของนางจะได้เหมาะสมกัน ( ซึ่งสะท้อนถึงกระบวนทัศน์ที่ไม่เพียงแต่ผู้หญิงสามารถเลือกคู่ครองได้เอง แต่ยังให้เห็นว่าผู้หญิงชาวฑราวิทที่น่าปรารถนาคือผู้หญิงที่กำยำมีพละกำลังมหาศาล ) แต่พระรามปฏิเสธ และกล่าวว่านางไม่มียางอายให้กลับไปเสีย แต่นางสำมนักขากลับไม่ลดละความพยายาม เมื่อเห็นนางสีดาจึงคิดจะฆ่าเข้าไล่ตบตี พระรามเห็นเข้าจึงเอาคันศรไล่ตี พระลักษมณ์จึงถีบนางสำมนักขาล้มลง แล้วตัดแขนขาจมูกและหูทิ้งจากนั้นจึงไล่กลับไป ซึ่งการทำร้ายร่างกายและรวมไปถึงการตัดจมูกของผู้หญิงนั้น ก็เคยเป็นกระบวนการรักษาผู้หญิงที่เป็น Hysteria ในตะวันตก

นางสำมนักขาจึงไปฟ้องทูษณ์ ขร และ ตรีเศียรว่าถูกพระรามพระลักษณ์ลวนลามเมื่อตนเองขัดขืนจึงถูกทำร้ายร่างกาย แต่พี่ทั้ง 3 ของนางสำมนักขาก็ถูกฆ่าตายหมด

เมื่อไปฟ้องทศกัณฐ์ พร้อมปั้นเรื่องว่า นางสีดาสวยงามกว่านางมณโฑมากอยากให้มาเป็นศรีนครลงกา จึงอุ้มมาฝากทศกัณฐ์ แต่ถูกพระลักษมณ์พระรามตามแย่งชิงกลับคืนมา และทำโทษดังเช่นที่เห็น

V

ในสังคมของชาวฑราวิทนั้น เป็นสังคมที่บูชาเทวีเป็นส่วนใหญ่ซึ่งยังพบเห็นได้ในปัจจุบันที่เทพประจำชุมชนในอินเดียใต้เป็นเพศหญิง ซึ่งในรามเกียรติ์ก็เช่นกัน ที่มีทั้งนางผีเสื้อ นางอังกาชตะไลย เป็นผู้คุ้มครองเมืองลงกา

ผีเสื้อเป็นนางยักษ์เฝ้ากรุงลงกา รูปร่างใหญ่โต มีฤทธิ์มาก วันหนึ่งขณะเดินตระเวนรอบเกาะลงกา พบหนุมานจึงต่อสู้กันไม่มีใครแพ้ชนะ นางผีเสื้อตัดปัญหาขย้ำกินหนุมานเป็นอาหาร หนุมานจึงใช้ตรีตัดตับไตไส้พุงของนางแล้วกรีดท้องออกมา แล้วตัดแขนขาโยนให้ปลาในทะเลรอบลงกากิน การปราบผีเสื้อของหนุมานนั้น เป็นภาพสะท้อนมุมมองเพศชายต่อร่างกายผู้หญิง ว่าเป็นพื้นที่ของการถูกสอดใส่หรือถูกสิงสู่ ก่อให้เกิดอีกสิ่งมีชีวิตในร่างกายเสมือนการตั้งครรภ์

นางอังกาชตะไลย พระเสื้อเมืองแห่งกรุงลงกา มีหน้าสีแดง 4 หน้า 8 มือ ได้ต่อสู้กับหนุมานเนื่องจากไม่อนุญาตให้หนุมานเข้าไปถวายแหวนให้นางสีดา แต่เพลี่ยงพล้ำถูกหนุมานฆ่าตาย

ทั้งนางผีเสื้อและนางอังกาชตะไลยถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพศหญิง คำว่าผีเสื้อในภาษาไตและลาวโบราณหมายถึงเจ้าที่หรือผู้รักษาท้องถิ่น ส่วนคำว่า ตะไล นั้น ในภาษาทมิฬแปลว่า ที่สูงหรือศีรษะ ทั้ง2นางทำหน้าที่ปกป้องเกาะลงกา จึงเปรียบได้กับคามเทวดาหรือเทวดาประจำชุมชนประจำท้องถิ่นที่เป็นผู้หญิง ซึ่งพบตามสังคมอินเดียใต้และสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมของชาวทมิฬและชาวอุษาคเนย์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือ เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์หรือเจ้าแม่ดินที่สถิตในผืนนา ผู้ติดต่อกับงู นาค ซึ่งอาศัยอยู่ในโพลงดิน หรือเมืองบาดาลซึ่งคติความเชื่อดังกล่าวได้ปรากฏเป็นสัญลักษณ์ในรามเกียรติ์คือนางสีดา

นางสีดา ในรามเกียรติ์ฉบับ ไทย เขมร และทมิฬนั้นกล่าวว่าเป็นธิดาของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เมื่อแรกเกิดได้ร้องว่า “ ผลาญราพณ์ ” ถึง 3 ครั้ง พิเภกทำนายว่าเป็นกาลีแก่บ้านเมือง จึงใส่ไว้ในผอบแก้วแล้วไปทิ้งที่แม่น้ำ ผอบแก้วนางสีดาลอยไปติดท่าน้ำของอาศรมชนกฤๅษีกษัตริย์กรุงมิถิลาที่ออกมาบวชในป่า พระชนกฤๅษีจึงนำมาเลี้ยงแต่เห็นว่าเป็นภาระทำให้ไม่สามารถบำเพ็ญภาวนาได้จึงนำมาฝังไว้ใต้ต้นไทร เมื่อพระชนกฤๅษีลาพรตไปปกครองกรุงมิถิลา จึงสั่งให้บริวารไปขุดหาผอบนางสีดา แต่ขุดไม่พบ พระชนกจึงอธิษฐานให้โคนำทางไปพบผอบแก้ว คราวนี้พระชนกเป็นผู้ไถดินเอง ก็พบกับผอบแก้วข้างในมีหญิงสาววัย 16 พระชนกจึงตั้งชื่อให้ว่า สีดา อันแปลว่ารอยไถ

คำว่า “ สีดา ” ( รอยไถ ) ยังปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทอีกด้วย กล่าวว่าเป็นเทวีสำหรับประชาชน เช่นเดียวกับใน คัมภีร์คฤหยสูตร ที่กล่าวถึงนางสีดาหลายแห่งว่าเป็นเทวีประจำไร่นาที่ไถหว่านแล้ว นางจึงเป็นเจ้าแม่ดินผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์สำหรับในคติของทมิฬและอุษาคเนย์ เพราะเมื่อทศกัณฐ์ลักนางสีดามานางก็ให้อยู่ในสวน ไม่ได้นำเข้ามาอยู่ในวัง และครั้นเมื่อนางน้อยใจพระรามจึงแทรกแผ่นดินหนีไปยังเมืองนาคบาดาล

นอกจากนี้นางสีดายังคลอดโอรสแฝด ชื่อ พระกุศ และ พระลพ กุศ แปลว่า ยอดหญ้าคาที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ลพ คือ ลว แปลว่า การตัด การเกี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับชื่อนางสีดาที่แปลว่ารอยไถอย่างมาก นางจึงเป็นสัญลักษณ์ของเกษตรกรรมการเพาะปลูก และความอุดมสมบูรณ์ แต่ในรามเกียรติ์ของไทย ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น มงกุฎ และ ลบ ซึ่งทำให้มิติเกี่ยวกับการเกษตรขาดหายไปจากวรรณกรรม

การที่พระรามแต่งงานกับนางสีดาก็คือการที่พระรามหรือเทวดาในศาสนาของอารยันอวตารมาแต่งงานกับเจ้าแม่ดินชาวฑราวิท จึงเป็นการแพร่ขยายวัฒนธรรมอารยันสู่ฑราวิทให้ชาวพื้นเมืองยอมสยบต่ออำนาจอารยัน คล้ายกับนิทานกำเนิดเมืองฟูนัน ที่ราชินีนาคชื่อโสมาแต่งงานกับพราหมณ์จากชมพูทวีปถือเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของชาวทุ่ง ชาวพเนจร อาชีพนักรบ ขี่ม้า ล่าสัตว์ (ดังที่พระราม ทำพิธีอัศวเมธ ปล่อยม้าอุปการ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงที่เชื่อกันว่าใครกระทำได้ถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็จะได้เป็นพระอินทร์) กับชาวลุ่ม ที่อยู่ติดที่ ทำนา

แต่บางทีรามายณะอาจเป็นเรื่องราวที่ท่องบ่นในพิธีกรรมเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เพราะพระราม อาจมาจากคำว่า “พลราม” (หลภฤต) แปลว่า คนไถนา จึงหมายถึงการร่วมเพศกันระหว่างชายหญิงเพื่อให้เกิดผลผลิตทางการเกษตรและการเก็บเกี่ยว แล้วอาจแต่งขึ้นเพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมชาวนาเข้าครอบงำวัฒนธรรมชาวทุ่ง ทำให้พระราม เป็นกษัตริย์เกษตรกรรมแทนกษัตริย์นักรบ

อย่างไรก็ตามตัวพระรามเองยังเป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นพระนารายณ์อวตารจริงหรือไม่ เนื่องจากชาวอารยันเข้ามาในเขตวัฒนธรรมอินเดียพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ซึ่งในขณะนั้นเทพเจ้าสูงสุดคือพระอินทร์ เทพแห่งนักรบและฟ้าฝน (ชาวอารยันคือพวกเร่ร่อน แต่ก่อนมีม้าเป็นพาหนะ การที่พระอินทร์ขี่ช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่มีมากในพื้นที่นี้ จึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าอารยันยิ่งใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้) พระอินทร์ในคัมภีร์พระเวทมักต่อสู้กับอสูรกักขฬะ ผู้สร้างความเดือดร้อนก่อนที่จะมีพระวิษณุพระนารายณ์ที่อวตารปราบอสูรรากษส พระรามจึงน่าจะเป็นพระอินทร์มาก่อนที่จะเป็นพระนารายณ์ ดูได้จากพระรามไทยที่มีสีเขียวดั่งสีเนื้อตัวพระอินทร์ คู่กับนางสีดาเทวีแห่งดินและไร่นา

VI

อริสโตเติลได้กล่าวว่าผู้หญิงไม่มี Logos ซึ่งตีความได้ว่าผู้หญิงไม่มีทั้งภาษาและเหตุผล โลกของภาษานั้นจึงไม่ใช่โลกของผู้หญิง เพราะเป็นโลกของระบบสัญลักษณ์ (symbolic order) ที่มีมาก่อนและเป็นโลกของผู้ชาย ไม่เพียงแต่ผู้หญิงจะไม่มีโลกในระบบสัญลักษณ์และเข้าไม่ถึง ผู้หญิงยังเสมือนบุคคลที่ไม่สามารถพูดและฟังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงชนชั้นสูง จึงต้องมี “นางสนองพระโอษฐ์” หรือผู้พูดแทน เมื่อเป็นเพศที่พูดไม่ได้ด้วยตนเอง ผู้หญิงจึงต้องพูดผ่านทางผู้ชาย ดังนั้นหลังจากที่พระรามรบชนะทศกัณฐ์ได้พานางสีดากลับพลับพลา พระรามจึงต้องจัดให้นางสีดาลุยไฟ เพื่อให้พระอัคนีซึ่งเป็นเทพผู้ชาย แสดงตนออกมาพูดแทนว่านางบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ต่อพระราม ซึ่งถ้าหากนางไม่ซื่อสัตย์มีใจบริสุทธิ์ต่อพระราม นางจะย่อมตายในกองไฟ และครั้นพอนางเดินลุยไฟก็มีดอกบัวออกมารองรับนางให้นางเดินผ่านกองไฟโดยไม่เป็นอันตราย

และทันทีที่ผู้หญิงเริ่มใช้ภาษาด้วยตนเอง กลับกลายเป็นความน่าหวาดวิตกให้กับผู้ชาย เห็นได้จากการร้องของสีดาเมื่อแรกเกิดที่ร้องออกมาเป็นภาษาว่า “ผลาญราพณ์” ทำให้ทศกัณฐ์หวั่นวิตกในความหายนะที่จะเกิดขึ้น จึงต้องนำสีดาใส่ผอบแก้วลอยน้ำ ซึ่งการที่สีดาร้องออกมาเช่นนั้น เป็นการบอกให้ผู้อ่านรามเกียรติ์ทราบว่า นางเป็นผู้หญิงที่ยอมอยู่ใต้ระบบสัญลักษณ์ อยู่ภายใต้โครงสร้างของภาษาและสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของนางนั้นดำเนินอยู่ภายใต้กฎ และระบบสัญลักษณ์ของผู้ชายตลอดเวลา

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นางเปล่งเสียงออกมาว่า “ ผลาญราพณ์ ” นั้น ไม่เพียงแต่แสดงถึงแรงผลักดันทางจิตใจในการทำลายล้าง (Aggressive Drive) หรือ “ Destrudo ” แต่ยังแสดงถึงปมปิตุฆาต (Oedipus Complex) เพราะราพณ์คืออีกชื่อหนึ่งของทศกัณฐ์ เพราะถ้าหากเชื่อตามลากอง (Jacques Lacan) เด็กไม่ว่าเพศอะไรต่างปรารถนาในตัวแม่ รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับแม่ จึงเห็นพ่อเป็นคู่แข่ง และเป็นภัยในความคิดเด็ก (ปมปิตุฆาต ยังพบได้ในรามเกียรติ์ตอนหนึ่ง เมื่อควายทรพีผู้เป็นลูกชายของทรพา ผู้มีพละกำลังมหาศาลกว่าควายตัวใดในป่า ทรพีเฝ้าวัดรอยตีนทรพาอยู่ทุกวัน หวังว่าสักวันจะได้ฆ่าทรพาผู้เป็นพ่อเพราะอยากมีความยิ่งใหญ่ พละกำลังเหมือนกับทรพา โดยที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ทรพาคือพ่อของตน) ซึ่งพ่อนั้นเป็นผู้มีอำนาจ ที่ผู้หญิงไม่สามารถมีได้ และพ่อนี่เองเป็นผู้แยกลูกออกจากแม่ ดังที่ทศกัณฐ์ให้ทิ้งนางสีดาให้ไหลไปตามกระแสน้ำ

ครั้นเมื่อนางสีดาคืนสู่ลงกาอีกครั้งจากการลักพาตัวโดยทศกัณฐ์ นางได้เฝ้าคอยพระรามมารับนางกลับ โดยไม่คิดจะหาทางออกเอง สะท้อนให้เห็นบทบาทของผู้หญิงที่มีบทบาทต้องรอคอยผู้ชาย ไม่เพียงแต่รอการกลับมาของสามี แต่ยังเป็นการรอคอย “ เจ้าชาย ” หรือ ผู้ชายในฝัน เพราะผู้หญิง (ชนชั้นสูง) ตกอยู่ในสถานภาพที่เลือกเองไม่ได้ ต้องรอการตัดสินใจของผู้ชายในการที่จะแต่งงาน เหมือนที่นางสีดาไม่อาจจะเลือกคู่ครองเองได้ ต้องรอเจ้าชายที่สามารถยกคันธนูศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองมิถิลาได้ถึงจะมาเป็นคู่ครอง
แต่เมื่อนางถึงโอกาสที่จะเลือกได้ระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ นางได้เลือกพระราม อันเป็นสัญลักษณ์ “ ผู้ชายดี ” มากกว่า ทศกัณฐ์ อันเป็นพลังผู้ชายที่ดิบเถื่อน กักขฬะ ซึ่งในระยะเวลาการมีชีวิติอยู่ของนางสีดาในรามเกียรติ์ เธอได้ยอมจำนนต่อระบบสัญลักษณ์ มาโดยตลอด ความรักของนางที่มีต่อพระรามเป็นความรักที่อยู่ในกรอบของสัญลักษณ์ เป็นความรักที่อยู่ในกรอบของ “ ผัวเดียวเมียเดียว ” ในสถาบันการแต่งงานแบบ monogamy ที่นางไม่ยอมแต่งงานกับชายอื่นอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่พระรามแต่งงานกับนางสีดาเพียงผู้เดียว นางจึงเฝ้ารอการมารับตัวกลับของพระรามอย่างทรมาน เหมือนกับการตามหานางสีดาของพระราม ที่เป็นความเจ็บปวดที่แสดงออกถึงความรัก เป็นความสุขที่เกิดจากความเจ็บปวด และเช่นเดียวกับที่ทศกัณฐ์ยอมเจ็บปวดจากการสูญเสียประยูรญาติเพื่อแสดงออกถึงความรักนางสีดาและศักดิ์ศรีของตน เป็นความสุขอันเกิดจากความคาดหวัง ปรารถนา และพยายามจะจับต้องแต่ทำไม่ได้ ความรักในเรื่องรามเกียรติ์จึงเป็นความรักที่มาพร้อมกับความปรารถนาที่จะเป็นความปรารถนาไปตลอด เพราะไม่วันได้รับการเติมเต็ม เป็นเพียงความไม่ขาดและความไม่สมบูรณ์

การที่ผู้หญิงต้องรอผู้ชายนั้น แสดงออกถึงความไม่มีปรารถนาของผู้หญิงโดยเฉพาะชนชั้นสูงที่ผู้หญิงไม่สามารถแสดงออกถึงความต้องการของตนเองได้ เพราะความปรารถนาของผู้หญิงอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงคือผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของผู้เป็นสวามีหรือสามี(อันมีความหมายว่า ผู้เป็นใหญ่ เจ้าของ) ถ้าหากผู้หญิงคนใดแสดงเจตจำนงของตนเอง แสดงว่าผู้หญิงคนนั้นกำลังนำความหายนะมาสู่สามีและลูกหลาน ดังที่นางสีดาอยากได้กวางทองซึ่งเป็นมารีศจำแลงมาจนก่อให้เกิดการพลัดพรากระหว่างตนกับผัว เช่นเดียวกับนางไกยเกษีได้ทำให้สามีตนเองเสียชีวิตเนื่องมาจากนางขอให้พระพรตลูกชายนางขึ้นครองราชย์บังลังก์แทนพระรามที่เป็นพี่คนโต แล้วให้พระรามไปบวชอยู่ในป่าเป็นเวลา 14 ปี โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่ท้าวทศรถผู้เป็นสามี รบกับปทูตทันตยักษ์จนเพลาราชรถหัก นางไกยเกษีอยู่ในเหตุการณ์ด้วยจึงอธิษฐานด้วยความสวามิภักดิ์ต่อสวามีเมื่อเอาแขนเข้าแทนเพลารถขออย่าให้เป็นอันตราย แล้วนางก็ยื่นแขนต่างเพลารถ เมื่อพระทศรถรบชนะจึงสรรเสริญนางพร้อมบอกว่าหากนางประสงค์สิ่งใดจะให้ตามที่นางขอ แต่พอนางขอกลับทำให้ท้าวทศรถผู้เป็นสวามีและบิดาพระรามเสียใจจนตาย และถูกพระพรต ลูกชายตนเองขึงโกรธถึงกับจะฆ่านาง
ด้วยความปรารถนาของบุคคลนอกเหนือระบบสัญลักษณ์ ทั้งนางสีดาและนางไกยเกษี รวมไปถึงความปรารถนาของทศกัณฐ์ ( ที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ การให้ความหมายความเข้าใจของชาวอารยัน )ในตัวนางสีดา จึงนำไปสู่การถูกลักพาตัวและสงคราม ที่นำไปสู่การสูญเสียอันยิ่งใหญ่

VII

การลดทอนคุณค่าและอำนาจของศัตรู มักปรากฏอยู่ในสงครามการสู้รบอยู่เสมอไม่ว่าในยุคสมัยใด สงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์เองก็เช่นกัน ที่การแผลงศรและตัดหัวไม่ได้เพื่อจบชีวิตข้าศึกศัตรูเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการลดทอนคุณค่าและอำนาจของศัตรูอีกด้วย เพราะในสายตาของสังคมที่ “ลึงค์เป็นศูนย์กลาง” (Phallocentric) เพศชายมีบทบาททางการทหารการและปกครอง เพื่อปกป้องเพศหญิงที่อ่อนแอ ไร้คุณค่าและอำนาจเพราะพวกเธอเป็นเพศที่ขาด “ลึงค์” การตัดหัวศัตรูจึงไม่เพียงเป็นการทำให้ไร้ชีวิต แต่ยังเป็นการ “ตอน” ข้าศึกไม่ให้เป็นเพศชายอีกต่อไป เช่นเดียวกับการแผลงศร อันเป็นกระบวนการทำให้ร่างกายของข้าศึกกลายเป็นหญิง เพราะตามความคิด “แบบผู้ชายๆ” แล้ว เพศหญิงเป็นเพศที่ถูก “ทะลุทะลวง” หรือ “สอดใส่” ซึ่งการถูกศรปักร่างก็คือการถูก “สอดใส่” โดย “อาวุธ” เป็นการทำให้ชายชาติทหารผู้นั้นไม่ได้เป็น “ผู้ชายตัวจริง” อีกต่อไป การตายของเหล่าบรรดายักษ์นั้น จึงไม่เพียงแต่ถูกฆ่าโดยน้ำมือของฝ่ายที่ได้รับชัยชนะเท่านั้น แต่ยังถูก “เอา” โดยพระรามและพรรคพวกอีกด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าพลพรรคของพระรามจะไม่ถูกสอดใส่ พระลักษณ์ น้องชายพระรามเองก็ถูกยักษ์ฝ่ายทศกัณฑ์ “เอา” อยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่รบกับอินทรชิตหรืออีกหลายๆตอน แต่สำหรับมัจฉานุที่เป็นลูกสุพรรณมัจฉาที่เกิดกับหนุมานแล้ว การตัดไม่ใช่การตอนหรือการทำให้เป็นเพศหญิง แต่เป็นการทำให้ “เป็นแมน” มากขึ้น เพราะการให้พระรามตัดหางปลาที่งอกอยู่ด้านหลัง เปรียบเสมือการตัดขาดจากแม่และอาณาจักรของผู้หญิง ซึ่งก็คือบ้านและทะเลแม่น้ำ แล้วเข้าไปอยู่เป็น “พวกเดียว” กับบรรดาทหารในอาณาจักรของพระรามแทน

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ในรามเกียรติ์ไม่ใช่การรบระหว่างผู้ชายด้วยกันเองเพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็นหญิงเพียงอย่างเดียว แต่การสู้รบระหว่างชายกับหญิงในเรื่องก็ปรากฏด้วยเช่นกัน ในกรณีของนางมณีเมขลากับรามสูร

นางมณีเมขลา นั้นกล่าวว่าเป็นลูกสาวของท้าวมังกรการเจ้าใต้บาดาล สมสู่กับนางฟ้าจนเกิดเป็นนางมณีเมขลา เมื่อโตเป็นสาวท้าวมังกรการนำไปถวายพระศิวะ พร้อมกับดวงแก้วมณีอันมีแสงรุ่งโรจน์ที่ท้าวมังกรการมักอมไว้ในปาก

พระศิวะจัดตำแหน่งนางให้เป็นชายาลำดับที่ 4 และมีหน้าที่คอยทำความสะอาดดวงแก้ว ซึ่งนางไม่พอใจกับตำแหน่งนี้ วันหนึ่งนางทำความสะอาดดวงแก้ว ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ใครหาอย่าได้พบตัว ให้คลาดแคล้วจากอาวุธทั้งปวง ไม่มีผู้ชายมาข้องแวะไปชั่วกาลปาวสาน หลังจากนั้นนางจึงถือดวงแก้วมณีไปที่ดื่มน้ำอมฤตโดยที่เทวดาทั้งหลายไม่สามารถมองเห็นนางได้ นางก็เหาะเหินหนีไปจนไปพบกับรามสูรผู้อยากได้ดวงแก้วนั้นบ้างจึงวิ่งไล่กันไม่จบสิ้น

นางเมขลาแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของผู้หญิงที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย เพราะนางก็คือเจ้าแม่ดิน มีชาติกำเนิดมาจากมังกรใต้บาดาล แต่เมื่อมีสามีและสมาทานตนเข้าระบอบปิตาธิปไตย ทำให้นางไม่มีความสุขจึงหลบหนีจากพระศิวะไปอยู่ตัวคนเดียวอย่างอิสระ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องคอยหลบหนีอำนาจของสามี (เพราะอาวุธประจำกายรามสูรคือขวานที่ได้รับการประทานมาจากพระศิวะ)

ในเรื่องนั้นแสดงถึงการต่อสู้ของผู้หญิงที่แตกต่างจากผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด ผู้ชายจำเป็นต้องใช้อาวุธมากมายและรบกันในสมรภูมิ ขณะที่ผู้หญิงสามารถใช้ร่างกายของตนเองเป็นอาวุธ เพียงการใช้วาจาผู้หญิงก็สามารถทำลายล้างสิ่งต่างๆได้โดยไม่เปลืองแรง ดังที่นางสำมนักขาสร้างเรื่องพระรามพระลักษมณ์และนางสีดาให้ทศกัณฐ์ฟังเพื่อแก้แค้น อีกทั้งการที่ผู้หญิงอยู่นอกเหนือระบบสัญลักษณ์ ร่างกายและการแสดงของผู้หญิงจึงลื่นไหลไม่คงที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดจนเหมือนไม่มีตนที่แท้จริงหรือล่องหนได้อย่างเมขลา ก็เป็นภัยต่อผู้ชายอย่างมาก ดังที่นางอดูล เป็นปีศาจใต้ดิน เป็นลูกสาวนางสำมนักขากับชิวหา ได้แปลงกายเป็นนางรับใช้สีดาหลอกให้วาดรูปทศกัณฐ์ให้ดู เพื่อให้พระรามเข้าใจผิดว่านางสีดาคิดถึงและมีจิตเสน่หาต่อทศกัณฐ์ ทำให้นางสีดาถูกขับออกจากเมืองขณะตั้งครรภ์ เป็นเหตุให้พระรามสูญเสียนางสีดาไปในช่วงเวลาหนึ่งและทำให้นางสีดาต้องตกระกำลำบาก เช่นเดียวกับที่ นางเบญจกาย ธิดาของพิเภกกับนางตรีชฎา ถูกทศกัณฐ์ใช้ให้แปลงกายเป็นนางสีดาลอยน้ำให้พระรามเข้าใจว่านางสีดาตายแล้ว เพื่อให้ถอยทัพกลับไป เกือบทำให้หนุมานต้องโทษประหารชีวิต

ถึงกระนั้น การลื่นไหลของตัวตนหรืออัตลักษณ์ การใส่หน้ากาก ไม่ใช่คุณสมบัติเฉพาะของผู้หญิง แต่เป็นคุณสมบัติของผู้ชายอีกด้วย เห็นได้จากการปลอมตัวของหนุมานเป็นลิงธรรมดา การปลอมตัวเป็นพระฤๅษีกาลสิทธิ์ของทศกัณฐ์ เพื่อปรามไม่ให้พระรามยกทัพมาตีเมืองลงกา การอำพรางตัวตนดังที่วิรุญมุขสามารถล่องหนได้จนฆ่าบรรดาทหารลิงของพระรามตายเป็นจำนวนมาก หรือการแปลงกายของอินทรชิตเป็นพระอินทร์จนทำให้พระลักษมณ์ต้องศรพรหมมาสตร์

การเลื่อนไหลของอัตลักษณ์ยังแสดงถึงตัวตนที่หลากหลาย ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพื้นเมืองที่ไม่ว่าจะเป็นศัตรูหรือผู้สวามิภักดิ์ต่ออารยัน ซึ่งแสดงถึงสายตาของอารยันที่มองชายชาวพื้นเมืองมีสถานภาพเดียวกับเพศหญิง

อย่างไรก็ตามการเลื่อนไหลของตัวตนนั้นก็ปรากฏในตัวละครที่เป็นกษัตริย์ชาวอารยัน แต่ทั้งนี้เป็นเพราะต้องคำสาปของเทพเจ้าท้องถิ่น (พระศิวะและพระอุมา) ซึ่งเป็นการลดความน่าเชื่อถือของกษัตริย์ชาตินักรบชาวอารยันให้มีคุณสมบัติเดียวกับชนพื้นเมือง ดังในเรื่องราวของ ท้าวอิลราช ราชานครพลหิกา แคว้นพลหิ ที่เข้าไปไล่เนื้อในป่า จนถึงตำบลกำเนิดพระขันธกุมาร ขณะนั้นพระศิวะกำลังทรงพระสำราญ ณ ที่รโหฐานเชิงเขาไกรลาส และได้จำแลงกายเป็นสตรีเพื่อหยอกล้อพระอุมา ทำให้บรรดาสัตว์และต้นไม้กลายเป็นสตรีตามไปด้วย พระอิลราชและบริวารล่วงเข้าไปในที่รโหฐานจึงกลายเป็นสตรีตามไปด้วย พระอิลราชจึงเข้าไปกราบทูลพระศิวะขอให้ร่างกายกลับเป็นชายดังเดิม พระศิวะไม่ประทานพรตามที่ขอ แต่พระอุมาประทานให้กึ่งหนึ่ง โดยสาปให้เป็นชายเดือนหนึ่งเป็นหญิงเดือนหนึ่งสลับกัน ขณะที่เป็นผู้หญิงให้มีชื่อว่า นางอิลา ซึ่งขณะที่เป็นนางอิลานั้นจะไม่สามารถจำเรื่องราวตอนเป็นพระอิลราชได้ เช่นเดียวกับที่พระอิลราชจำเรื่องราวตอนเป็นนางอิลาไม่ได้ ต่อมานางอิลาได้ไปเป็นเมียพระพุธ และอยู่ร่วมอาศรมเดียวกันเป็นเวลานานทั้งพระอิลราชและนางอิลาสลับกันเป็นเดือน จนนางอิลามีลูกชื่อ ปุรูรพ หลังจากนั้นพระอิลราชได้ร่วมมือกับพระพุธพระฤๅษีทำพิธีอัศวเมธให้พระศิวะ พระศิวะจึงลงมาประทานพรให้เป็นชายไปตลอดไม่ต้องกลับเป็นนางอิลา

VIII

การร่วมเพศที่ปรากฏในในรามเกียรติ์ นอกจากจะสะท้อนถึงการสร้างบริวารเครือญาติดังที่ทศกัณฐ์ทำนั้น ยังเป็นการต่อรองระหว่างศัตรูอีกด้วย อย่างในช่วงที่หนุมานสร้างถนนข้ามมหาสมุทรไปยังกรุงลงกาตามคำบัญชาของพระราม ซึ่งได้ถูกขัดขวางจากนางสุพรรณมัจฉา ธิดาทศกัณฐ์กับนางปลา หนุมานจึงเกี้ยวพาราสีเสพสังวาสกันจนนางเลิกก่อกวนการสร้างถนน แต่อย่างไรก็ตามนางก็สามารถทำให้หนุมานหยุดสร้างถนนได้ในช่วงเวลาหนึ่งด้วยการเสียเวลามาร่วมเพศกับนาง

นางสุพรรณมัจฉา ก็คือนางนาคในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะนางคือ“เงือก”ซึ่งเป็นคำเรียกงูในสมัยก่อน เช่นเดียวกับคำว่า “งึม” ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหลายชุมชนของทมิฬและอุษาคเนย์ ที่มักถูกผูกโยงกับผู้หญิงปรากฏมากมายในวรรณคดี เพราะงู ปลา รวมไปถึงคางคกอย่างนางมณโฑ ล้วนเป็นสัตว์เลือดเย็น เช่นเดียวกับผู้หญิงที่เชื่อว่าเป็นเพศที่ตัวเย็น มีอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำกว่าเพศชาย เป็น “แม่เนื้อเย็น” ที่จะhotหรือมีความต้องการทางเพศได้ ต้องคอยตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้ชาย

ภาพลักษณ์ของผู้หญิงนั้นมีมโนทัศน์เป็นนางเงือกผู้ทรยศผู้ชาย (The Treacherous Mermaid) ดึงดูดผู้ชายด้วยเสียงเพลงที่มีมนต์สะกดให้ผู้ชายหลงใหล เพื่อหลอกล่อผู้ชายมาสมสู่แล้วฆ่าทิ้ง อีกทั้งนางเงือกยังอาศัยอยู่ในน้ำ ที่ที่มนุษย์ถือกำเนิดแต่ไม่สามารถอาศัยในน้ำได้ไม่ว่าจะเป็นทะเล มหาสมุทร หรือสายน้ำล้วนมีสภาพที่ปรวนแปรยากเกินการคาดเดา จึงทำให้ภาพของนางเงือกเป็นที่น่าระแวดระวังสำหรับผู้ชาย

ในรามเกียรติ์ ภาพของผู้หญิงอารยันกับผู้หญิงชนพื้นเมืองมีความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากวิถีชีวิต ค่านิยม ประเพณี ส่วนผู้หญิงพื้นเมืองที่ถีบตนเองมาสู่สถานภาพผู้หญิงอารยันนั้นก็จะเป็นเพียงผู้หญิงที่สมาทานกฎระเบียบและระบบสัญลักษณ์อันเป็นโลกของผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงต้องถูกจองจำตนเองในพื้นที่ของผู้ชาย มีสถานภาพที่ขึ้นกับผู้ชาย ดังเช่นนางสีดาที่ตลอดชีวิตของเธอ อยู่ภายใต้กฎระเบียบของผู้ชายชาวอารยันมาตลอด

ผู้หญิงในวัฒนธรรมอารยันนั้นมีสถานภาพที่ขึ้นอยู่กับผู้ชายมาโดยตลอด เมื่อแรกเกิดมาในครอบครัวมีฐานะเป็นลูกสาว ต้องอยู่ในความดูแลและคำบังคับบัญชาของพ่อ ครั้นเมื่อแต่งงาน ผู้หญิงจะเปลี่ยนสถานภาพเป็นภรรยา อยู่ในความดูแลของสามี และเมื่อมีลูก จะกลายเป็นแม่ผู้อยู่ในความดูแลของลูกชาย แต่อย่างไรก็ตามลูกชายของนางก็ย่อมมีภรรยา ชีวิตของนางจึงมีเพียงสามีเท่านั้นที่นางจะมีพื้นที่ซึ่งเป็นโลกของสามีนาง เมื่อสามีตาย หญิงหม้ายผู้นั้นต้องตายตามสามีด้วยการกระโดดเข้ากองไฟในพิธีกรรมสตี เพราะนางจะขึ้นสวรรค์ได้เพราะก็ด้วยความภักดีต่อสามี ดังที่ นางบุษมาลี ได้ขึ้นสวรรค์ด้วยการสมสู่กับหนุมาน หลังจากนั้นหนุมานจึงโยนนางกลับขึ้นสวรรค์ตามเดิม หลังจากที่เคยเป็นนางฟ้าแต่ถูกคำสาปพระอินทร์ให้เฝ้าปราสาทร้างเพียงลำพังจนกว่าจะพบทหารของพระนารายณ์อวตารจึงจะพ้นคำสาป สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่กล่าวว่าผู้ชายเท่านั้นที่จะสามารถให้ผู้หญิงขึ้นสวรรค์ได้ แม้ว่าผู้หญิงจะสวดมนต์หรือบูชาเทพเพียงใด จำต้องให้ผู้ชายที่เป็นญาติหรือสามีประกอบพิธีให้มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ได้บุญเท่าเชื่อฟังปรนนิบัติสามี

ภายหลังที่อินเดียตกเป็นประเทศในอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ พิธีกรรมการให้หญิงหม้ายกระโจนเข้ากองไฟตายตามสามีจึงเลิกไป แต่ถึงกระนั้นก็ดีผู้หญิงหม้ายก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม นางต้องนุ่งขาวห่มขาว อาศัยตามเทวาลัยใกล้บ้านเพื่อทำความสะอาดไม่สามารถออกไปไหนได้เพราะถือว่าเป็นกาลกิณี ผู้หญิงหม้ายจึงถูกจำกัดบริเวณไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ดังที่บุษบกแก้วของทศกัณฐ์ที่ผู้หญิงหม้ายขึ้นไม่ได้ เพราะถ้าหญิงหม้ายขึ้นบุษบกจะไม่เคลื่อนที่

จะเห็นได้ว่าผู้หญิงนั้นจะไม่มีตัวตนเลยหากขาดผู้ชาย เพราะผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่ “ขาด” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขาดลึงค์” ฉะนั้นผู้หญิงจึงต้องพึ่งผู้ที่มีลึงค์เพื่อมาเติมเต็มชีวิต ด้วยการแต่งงาน ซื่อสัตย์ ปรนนิบัติเอาใจ อย่างไรก็ตามแนวความคิดดังกล่าวค่อนข้างเหมารวมผู้หญิงให้มีลักษณะไปในทิศทางเดียวกัน

แม้ในเรื่องรามเกียรติ์จะมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ขาดแต่รามายณะเองก็ “ขาด” อยู่หลายประการ เนื่องจากวรรณกรรมชิ้นนี้เป็นมหากาพย์ที่แบ่ง “พวกเขา” “พวกเรา” ออกเป็นคู่ขัดแย้ง (Dichotomy) ไม่ว่าจะเป็นชาย-หญิง มี-ไม่มี ดี-ชั่ว อริยกะ-อนารยะ คนเมือง-คนเถื่อน คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ (ดังที่ ไมเคิล ไรท ได้เสนอว่ารามเกียรติ์ไม่ได้เป็นขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นสงครามระหว่างผู้ชาย 2 รุ่นในครอบครัวตามจิตวิเคราะห์ ที่ราพณ์ผู้เป็นพ่อหวงลูกสาวไม่ยอมปล่อยให้ไปอยู่กับชายอื่น พระรามในฐานะผัวจึงมาต้องมาแย่งคืนจึงเกิดการต่อสู้ขึ้นระหว่างพ่อตากับลูกเขย) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ถูกนำเสนอในรามเกียรติ์ทั้งสิ้น และผู้ที่ชนะจากความขัดแย้งย่อมเป็นเพศชายผู้เป็นชาติอารยันอยู่ในระบบสัญลักษณ์อย่างพระรามและทำให้ความแตกต่างหลากหลายหายไปจากหน้าวรรณกรรม

รามายณะจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อประกาศถึงระบบสัญลักษณ์และการแสดงพละกำลังอำนาจของวีรบุรุษ (Phallus) ที่ประกาศขึ้นโดยเพศชาย (วาลมิกิ) ด้วยเพศชาย (ภาษา) เพื่อเพศชาย (สถาบันกษัตริย์) มันจึงเป็นเพียงโลกของเพศชายที่ถูกสร้างขึ้น บดบังทำลายและผลักใส “ความเป็นอื่น” อย่างผู้หญิงและชนพื้นเมืองที่มักถูกมองว่าเป็นเพศหญิงไปอยู่นอกพื้นที่ ด้วยเหตุประการฉะนี้ บรรดายักษ์หรือชนพื้นเมืองต้องตายโดยน้ำมือของพระรามและพวกพ้อง และนางสีดาฉบับรามายณะทมิฬ ชวา เขมร ต้องแทรกแผ่นดินหนีไปอยู่บาดาลจำพรากจากพระรามไปตลอดกาล

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผู้หญิงข้ามเพศ ? ? ! !


คืนก่อนดูรายการทีวีหนึ่ง เป็นการทุ่มเถียงระหว่าง... เอ่อ..จะเรียกว่าอะไรดีล่ะ เพราะพวกเขากำลังเถียงกันเรื่องนิยามตัวตนกันเองอยู่ว่าจะนิยามตนเองว่า เป็น“สาวประเภทสอง” “กะเทย” หรือ “ผู้หญิงข้ามเพศ”

ประเด็นหรือชนวนชวนทะเลาะกันคือ ความพยายามที่จะหันมานิยามว่า “ผู้หญิงข้ามเพศ” แทนคำว่ากะเทยหรือสาวประเภทสองพร้อมชุดคำอธิบายเสียใหม่ แต่จะข้ามภพด้วยมั๊ย ...ไม่รู้ เพราะว่าบรรดานักวิชาการ นักเคลื่อนไหว เขาเลิกพยายามนิยามกันมานานแล้ว แต่ที่เสนอมาออกรายการเพราะดูเหมือนว่าเจ้าของรายการคงต้องการสร้างเรตติ้งมากกว่า ด้วยการนำกะเทยมาตีกันผ่านสื่อให้สาธารณชนดู

...และก็สมใจผู้จัดเหมือนกัน เพราะกลายเป็นกระแสใหญ่โตในfacebook.com กระทู้ในpantip.com และการเข้าไปดูในyoutube.com...

คงเพราะไม่คุ้นหูจึงทำให้ “ผู้หญิงข้ามเพศ” ฟังแล้วค่อนข่างทะแม่งๆกับชื่อ เพราะมันแปลว่าอะไรหว่า ดูจนรายการจบก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะไม่รู้จะฟังใครพูดดี แย่งกันตระเบ็งแข็งกันพูดโขม่งโฉงเฉง อีกอย่างรายการก็ตัดไปตัดมาเพื่อกระชับเวลาจนจับใจความสำคัญไม่เจอ

แต่ฟังแล้วเสียวสันหลัง สังหรณ์ใจว่าพวกวินมอเตอร์ไซค์หน้าหมู่บ้าน คนงานก่อสร้างบ้านจัดสรรหน้าปากซอย มันจะต้องเอามาแซวกูแน่ๆ เหมือนกับตอนที่มีคำว่า “ประเทือง”

บรรยากาศมาคุขึ้นเรื่อย ทุกหลังโฆษณาที่เริ่มมีขยายวงสนทนามากขึ้นและเพิ่มตัวละครมากขึ้น (ก็ต้องใช้คำว่า”ตัวละคร”น่ะสิ เพราะรายการเขาจัดฉากนี่นา)และการนิยามความหมายใหม่และใช้คำศัพท์ใหม่อย่างแรงกล้าดูเหมือนว่าจะไม่ประสบผมสำเร็จในวงสนทนาแล้วยิ่งพยายามเท่าไรก็ยิ่งปะทะกันมากขึ้น

การพยายามใช้คำเรียกและให้คำจำกัดความ มันอาจดีตรงที่ง่ายต่อการอธิบายสำหรับคนที่ไม่รู้จักและไม่เคยพบเห็นมาก่อน อย่าง เรียกวาฬว่าปลาวาฬ เรียกแพนด้าว่า หมีแพนด้า แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่ใช่ปลาและหมี

แต่เป็นการนิยามสัตว์สิ่งของไม่ใช่กับคน และความพยายามนิยามหรือจัดประเภทของคนเขาก็ไม่ทำกันแล้ว เพราะไม่เพียงเป็นการจับคนมาใส่กล่องแต่ยังเป็นการผลักและกันคนจำนวนหนึ่งออกไป แม้แต่Feminisms ที่มีคุณูปการต่อกาเปิดพื้นที่ให้กับ “ผู้หญิงข้ามเพศ” เขาก็หลีกเลี่ยงที่จะนิยามตัวเองกันทั้งนั้น

แม้ว่าเราเรียกคริสเตียนผิวขาวหัวทองหัวแดงจมูกโด่งในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ว่า “ฝรั่ง” หรือ คนอินเดีย ปากิสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา อียิปต์ อิสราเอลว่า “แขก” เช่นเดียวกับที่ชาวตะวันตกเองเรียกว่าคนเอเชียว่าชาวตะวันออกแต่ไม่เรียกชาวออสซี่ เพื่อสร้างความเข้าใจง่ายๆจากตามรูปพรรณสัณฐานที่ปรากฏ ไม่ใช่พฤติกรรม รสนิยม บุคลิกภาพและgenderที่ปรากฏ เพราะมันลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและแตกต่างกันไปตามบริบทสังคม

มันจึงไม่สามารถตีตราหรือstaffไว้ในกรอบของคำๆใดคำหนึ่งหรือชุดคำอธิบายอย่างใดอย่างหนึ่งได้เหมือนผักผลไม้ที่จะจำกัดความได้ง่ายๆ เหมือน แห้ว เป็นสมหวัง หรือ ลั่นทม เป็นลีลาวดี

และที่สำคัญ การสร้างคำและชุดอธิบายมันเป็นเรื่องของชนชั้น เพราะภาษา(Language)และกฎหมาย(Legal)ไม่เพียงมีที่มาจากรากเดียวกันคือLogos แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในสถานะเดียวกันคือดำรงอยู่มาก่อนผู้ใช้และมีสภาพบังคับ แม้จะมีการกำหนดและเปลี่ยนแปลงตามบริบทสังคม แต่มักถูกกำหนดโดยผู้นำทางสังคม ไม่ใช่ผู้ตาม เหมือนการนิยามความหมายของวัฒนธรรมไทย สถาบันครอบครัว และ การถือกำเนิดของ การสร้างคำราชาศัพท์ คำสุภาพ "อำมาตยาธิปไตย" "ทักษิณาธิปไตย" "ไทยเข้มแข็ง" และ "เศรษฐกิจพอเพียง"

แม้ว่าคำนั้นจะถูกอ้างอิงโดยองค์กรระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลก-World Health Organization อย่างคำว่า “ผู้หญิงข้ามเพศ” (แต่เป็นการอ้างที่แปลมาจากคำประมาณว่า Transfemale, Trans sexual female Transwoman หรือ MTF-Transgender อีกที) เพราะมันเป็นคำที่อธิบายถึงโรคทางจิตเวชของผู้หญิงผู้หญิงเกิดมาที่มีอาการป่วยและผิดปรกติตรงที่มีไอ้จ้อนงอกออกมา เป็นโรคที่มีเนื้อร้ายคล้ายมะเร็ง ต้องรักษาด้วยการเฉือนทิ้งเท่านั้น ซึ่งมันใช้ได้ในประเทศโลกที่หนึ่งมากกว่าประเทศโลกที่สามอย่างไทยแลนด์ ที่การรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยการผ่าตัดแปลงเพศจึงไม่ใช่เรื่องฟรี

นอกจากนี้ WHO เป็นอาณาจักรแห่งแพทย์ กระบวนการทำให้เป็นผู้หญิงข้ามเพศได้จึงมีทางเดียวคือต้องพึ่งศัลยแพทย์เท่านั้น ไม่ใช่ถอดจิตไปสิงในร่างผู้หญิงได้ แม้แต่คนที่เชื่อว่าจิตตนเป็นเพศหญิงที่อยู่ในร่างกายเพศชายเธอเองก็ต้องให้มีดหมอผ่าตัดทำจิ๋มด้วยสนนราคาที่แพงระยับซ้ำยังต้องให้หมอปรับแก้อยู่เรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ “ผู้หญิงข้ามเพศ” จึงเป็นชุดอธิบาย ผู้หญิงที่เกิดมามีร่างกายผู้ชายและต้องการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับจิตใจที่ดูเหมือนสะกดจิตตัวเองนั้น ที่ยังข้ามไม่พ้นการเป็นประเด็นปัญหาสังคมแม้แต่ในสังคมที่เชื่อว่า “จิตเป็นกายนายเป็นบ่าว” โลกแห่งจิตสูงส่งสำคัญกว่าโลกที่สัมผัสได้ทางกายมากพอที่จะสามารถควบคุมและมีอิทธิพลเหนือเนื้อตัวร่างกายได้ อย่างสังคมไทยในตอนนี้

...“ผู้หญิงข้ามเพศ” จึงกลายเป็น “ผู้หญิงอาเพศ” ไป...

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความรัก การเดินทาง และ ส้นตีน



(บทความเนื่องในโอกาส 14 กุมภาพันธ์ 2010 , ขอบคุณ BFF ทั้งหลายที่chatกันในMSN โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีพวกที่กำลังอยู่ในโคลนดูดที่เรียกว่า “ความรัก” จนกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับเขียนบทความ บทความนี้กูให้พวกมึงแทนคำขอบคุณย่ะ อีดอก)


ฉันได้ยินหลายคนเอาความรักไปเปรียบกับสิ่งต่างๆนู่นนี่นั่นไม่รู้จบ ซึ่งหนึ่งในอุปมาอุปไมยโหลๆนั้นคือ “ความสัมพันธ์เปรียบเสมือนกับการเดินทางร่วมกัน” แต่ไม่เคยมีใครพูดต่อว่า มันเดินกันไปไหนของมัน สุดสายปลายทางร่วมเป็นยังไง แต่จะชอบพูดอีกทีตอนที่เลิกกันว่า “เรามาถึงทางตันแล้ว” ถึงแม้จะไม่มีใครรู้ว่าสุดทางที่เราเดินไปพร้อมกันมันเป็นยังไง แต่ที่แปลกกว่าคือ ทั้งคู่มี ”จุดหมายปลายทาง” เดียวกัน
สำหรับฉันแล้วยังหาทั้งจุดหมายปลายทางและเพื่อนร่วมทางไม่ได้ เท่าที่ทำได้คือพกคู่มือเดินทางสักเล่ม อย่างเช่นหนังสือประเภท “how to” ที่ตั้งชื่อประมาณว่า “กินชีวจิต พิชิตโรคร้าย” “ดื่มดอกคำฝอยเพื่อสุขภาพ” หรือไม่ก็ “ร่างกายแข็งแรงด้วยเห็ด3อย่าง” เพราะไม่มีใครดูแลยามแก่ยามเจ็บ
ถ้าเราเชื่อว่าความสัมพันธ์เปรียบได้กับการเดินทางอย่างนั้นจริงๆ เป็นไปได้ไหมที่เท้าของเราเปรียบเสมือนทั้งตัวและหัวใจเรา แล้วความรักก็คือรองเท้าที่ห่อหุ้มเรา... เท้าเราจะไม่สกปรกไม่มีพยาธิไชเมื่อใส่รองเท้า หัวใจของเราจะถูกฟอกให้สดชื่น ชุ่มฉ่ำเมื่อมีความรัก
อุ๊ยตาย! นานๆทีจะromanticizedที เปรียบหัวใจกับส้นตีน...ว่าแต่ว่าคนโสดอย่างฉันก็เป็นพวกเดินตีเปล่างั้นสิ
“I will be your journey and you will be my boat” เสียงเพลง won’t let you fall แว่วมาจากลำโพงสักแห่งในห้างสรรพสินค้าขณะที่ฉันกำลังมองหา “รองเท้า” ดีๆสำหรับไปไหนมาไหนสบายๆสักคู่ ทั้ง boat shoes และความรัก ระหว่างออกเดทกับเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนอีกที

“เท้าคุณสวยจัง” คู่เดทออกปากชมขณะฉันลองรองเท้าอยู่ ท่าทางเขากำลังหาเพื่อนร่วมเดินทางที่เท้าสะอาดอยู่ “มีคนบอกว่า เวลาดูใครให้ดูที่เล็บเท้า ถ้าเค้ามีความสามารถในการจัดการเล็บเท้าตัวเองได้อย่างสะอาดสะอ้าน ก็แสดงว่าจะจัดการเรื่องอื่นๆในชีวิตได้ดี” ดูเหมือนว่าสมมุติฐานฉันไม่พลาด เราสามารถเปรียบตัวตนกับเท้าของเราได้ เพียงแต่สงสัยว่า เป็นไปได้ขนาดนั้นเชียวหรือที่เราจะสามารถอธิบายตัวตนและอัตลักษณ์ของคนๆนึงผ่านลักษณะส้นตีน
เล่ากันว่า คนที่มีบุญญาธิการจะมีนิ้วตีนเรียงชิดเสมอกันเสมอกัน เหมือนตีนพระพุทธเจ้า ถ้าอธิบายตัวตนผ่านตีนได้จริงแล้วพระพุทธเจ้าจะจัดการเรื่องๆต่างๆได้ดีหรือไม่ เพราะต้องธุดงค์ด้วยตีนเปล่า หัวแม่ตีนคงมีขี้เล็บส้นตีนคงแตกเป็นรอยดำๆสากๆเหมือนคนงานตามไซด์งาน แต่ในเมื่อมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่จนดอกบัวผุดมารองรับตีนท่านก็คงไม่สกปรกอะไร
ในเมื่อตีนอาจนำไปสู่การอธิบายเรื่อง “ผู้มีบุญ” ชนชั้นและสถานภาพทางสังคมได้จึงไม่แปลกอะไรที่มันจะนำไปสู่การอธิบายการเลือกคู่เพราะก่อนปฏิวัติซินไฮ่ในจีน ตีนนำไปสู่การอธิบายคุณค่า ความดึงดูดทางเพศและรวมไปถึงอนาคตของชีวิตทั้งชีวิตของผู้หญิงชียวนะเออ
ในสมัยนั้นถือกันว่าผู้หญิงเท้ายิ่งเล็กเท่าไร ก็ยิ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นคนสวย ผิดกับหญิงชาวป่า ชั้นต่ำตีนบาน หญิงจีนจึงพยายามมีขนาดเท้าขนาดพอๆกับซองบุหรี่ด้วยกระบวนการรัดเท้า เพราะใครยิ่งเท้าเล็กเรียว 3 นิ้วเหมือนกลีบบัวทองที่ที่โพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมยืนเหยียบ ยิ่งมีค่าและได้สินสอดราคาแพง นั่นก็หมายความว่าหล่อนจะได้ผัวรวย เพราะสำหรับสายตาผู้ชายจีนแล้ว เท้าเล็กจิ๋วลอดชายกระโปรงออกมาและสะโพกขยับย้ายขึ้นลงขณะเดินอันเป็นผลจากความพิกลพิการของฝ่าตีน ช่วยกระตุ้นอารมณ์กระสันได้ดี ถึงขนาดจัดงานประกวดนางตีนงามก็มี

...แล้วมันยังมีอิทธิพลต่อการเลือกคู่อีกไหม ในยุคที่ไม่มีการรัดเท้าอย่างเป็นทางการ...

“ โอ๊ยแก ทำไมจะไม่ ฉันแทบคลั่ง เวลาที่มีใครเลียฝ่าเท้า ดูดหัวแม้เท้าเวลาทำรักให้ฉัน รู้สึกเหมือนมีไฟฟ้าช๊อตจนหัวหลุดไปในอวกาศเลยล่ะ” ท่าทางเพื่อนสนิทอีกคนคงฟังผิดเป็นทำรักกับเท้า ไม่ใช่เรื่องเท้ากับความรัก
“อย่างหล่อนน่ะ ไม่ทันได้เห็นเท้าก็เอากันแล้ว อย่าว่าแต่เท้าเลย ชื่อยังไม่รู้ด้วยซ้ำ” เพื่อนอีกคนนึงเบรกก่อนจะหันมาถามฉัน “ฉันว่านะ ถ้ามีผู้ชายที่เท้าดำปี๋ มีขี้เล็บ กลิ่นอับเชื้อรา กับผู้ชายเท้าสะอาดเล็บขาวสะอ้าน ไม่เหม็น มาขอออกเดท มึงจะเลือกใคร คนที่พิถีพิถันให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ เวลาออกเดทกับเราเค้าก็น่าจะดูแลและให้ความสำคัญกับเราระดับหนึ่งนะ”
“แต่ฉันดูแลตัวเองเป็น ฉันจัดการเนื้อตัวร่างกายฉันได้เอง ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ชายมากำกับจัดการ” ฉับขอตอบบ้าง “เท้าสะอาดหรือสกปรกมันไม่ได้บอกทั้งหมดของชีวิตเรานี่นา เขาอาจจะเหยียบขี้หมามาแล้วหาที่ล้างไม่ได้ ก่อนมาเจอฉันก็ได้”
“ใช่ไง แต่มึงจะยอมเดทกับผู้ชายที่มีขี้หมาติดตีนทั้งวันเลยหรอ”
ดูเหมือนกว่าอุปมาอุปไมย “ความรักเสมือนการเดินทางร่วมกันระหว่างคนสองคนที่ก้าวไปด้วยกัน” คงไม่เชยชวนเลี่ยนหรือโอเวอร์เกินจริง ตราบใดที่ลักษณะตีนยังสามารถนำไปสู่การนิยามลักษณะบุคคลและเป็นแรงจูงใจให้คนๆนึงอยากจะเดินทางร่วมกับอีกคนๆนึงที่สะอาดสะอ้าน

“แล้วฉันควรดีใจไหมที่ผู้ชายชอบฉันเพราะดูที่ตีนไม่ใช่ที่หน้า”

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ไม่เชื่ออย่าลิ่วลม


เมื่อคืนก่อนดูรายการอะไรสักอย่างๆ มีดาราหนุ่มมาเล่าประสบการณ์ว่าเธอทำธุรกิจจนร่ำรวยเทน้ำเทท่าอย่างทุกวันนี้ก็เพราะอภินิหารกุมารทองที่เลี้ยงไว้ในบ้านนับพันตัว

เธอยังเล่าต่ออีกว่า ไม่เพียงแต่กุมารจะให้โชคลาภ ทรัพย์สิน เงินทอง แต่ยังช่วยเฝ้าบ้านให้ คอยเตือนภัยล่วงหน้า พาทัวร์ยมโลก สำหรับฉัน ไม่เพียงไม่เชื่อ แต่ยังไม่ลบหลู่เพราะของแบบนี้ ใครใครเชื่อ เชื่อ ใครใคร่เช่า เช่าไปกราบไหว้บูชาก็แล้วแต่ปัจเจกบุคคล

แต่แปลกตรงที่ดาราคนนั้นเธอก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ใช้คำว่า “เลี้ยง” มากกว่าจะใช้คำว่า “บูชา” กุมารทอง เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน ฉันยังไม่เคยได้ยินใคร เลี้ยงพระพุทธจารย์โต หรือเลี้ยงหลวงปู่ทวด กุมารทองจึงมีสถานะที่ต่างไปจาก พระพิฆเณศ จตุคามรามเทพ หินธิเบต พระกริ่งนิรันตราย ที่นิยมใช้คำว่า “บูชา” แทน จึงดูเหมือนว่ากุมารทองไม่ใช่แค่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้น แต่ยัง “เชื่อง” อีกด้วย เพราะไม่ได้มีไว้ขอเพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือสมหวังอย่างเดียว แต่ยังมีไว้เพื่อใช้งานอีกด้วย


การเลี้ยงกุมารทองจึงไม่ได้เป็นการเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความสวยงาม หรือเพื่อความเพลิดเพลิน เหมือนไม้ดอกไม้ประดับ ปลาทอง ปลาหางนกยูง (เพราะฉันว่าดูน่าขนลุกมากกว่า) แต่เลี้ยงไว้เพื่อใช้งานเหมือนช้างเหมือนม้า

ไม่รู้เหมือนกันว่า UNICEF ท่านคิดยังไงกับการเลี้ยงกุมารทอง เป็นการใช้แรงงานเด็ก เป็น child abuse ที่ต้องกำจัดหรือเปล่า แต่ความเชื่อเก่าแก่นี้มันก็เข้ากับสังคมไทยได้ดี เพราะ ไทยเราไม่ใช้งานผู้ใหญ่แต่ใช้เด็ก ไม่ว่าเด็กนั่นจะเป็นลูกเต้าเหล่าใครก็ตามเพราะ บางครั้งคำว่า “เด็ก” ก็ใช้เรียกแทน “คนรับใช้” และ“มีลูกไว้ทันใช้” ย่อมดีกว่าเสมอตั้งแต่โบร่ำโบราณ


อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะไม่เข้ากันไม่ได้กับสำนวน “คบเด็กสร้างบ้านคบหัวล้านสร้างเมือง” เพราะ เมื่อเทียบกับชูชก และ นางกวัก ที่เล่าตามกันมาว่าทำให้ร่ำรวยเหมือนกัน กุมารทองกลับ เฮี้ยนได้ multi purpose มากกว่า เพราะถ้าเชื่อตามที่ดาราคนนั้นเล่าว่ากุมารทองสามารถช่วยหาที่จอดรถ คอยเฝ้าบ้าน ไล่ขโมยขโจร ใช่ว่าดีแต่กวักเรียกลูกค้าอย่างเดียว นางกวักหรือชูชกจึงนิยมบูชากันในกลุ่มพ่อค้าแม่ขาย โชเฟอร์แท็กซี่ เพราะอาชีพอื่นเทพเธอเฮี้ยนได้ไม่ครอบคลุม

(หากเชื่อตามที่ดาราคนนั้นบอก) อย่างไรก็ดี การเลี้ยงกุมารทองเป็นการช่วยวิญญาณเด็กที่ตายก่อนกำหนด ไม่ว่าตายเพราะแท้ง ตายห่าตายโหง ให้มีที่อยู่ที่สิงด้วยการเรียกมาสิงในรูปปั้นเด็ก แถมยังเป็นการให้ผีได้ทำบุญช่วยเหลือผู้อื่น พอเกิดใหม่จะได้เป็นเทวดา เพราะสะสมบุญมาเยอะแล้วเมื่อตอนสิงอยู่ในรูปปั้น

ว่าแต่ว่า ผีที่ตาย ทำไมมีแต่เด็กผู้ชาย ไม่มีเด็กผู้หญิงบ้าง เขาเรียกเฉพาะวิญญาณเด็กผู้ชาย เลือกปฏิบัติไม่เรียกเด็กผู้หญิง หรือว่าบางทีการเลี้ยงกุมารทองเป็นการตอบสนองค่านิยมความชอบมีลูกชายมากกว่ามีลูกสาวของสังคมไทย

รบกวน ศูนย์พิทักษ์ เด็ก เยาวชน และสตรี ช่วยจัดการที...